Wednesday, June 29, 2005
:: ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ::
เหตุเกิด ณ ร้าน Tasty
สักวันหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้ว

ระหว่างที่ผมและเพื่อนๆ กำลังมีความสุขอยู่กับการรับประทาน cold chicken (ไก่ต้มแช่เย็น) และ shimps with eggs (ไข่เขี่ยใส่กุ้ง) ซึ่งเป็นอาหารที่(พวกเราคิดว่า)อร่อยที่สุดของร้านนี้ คุณป้าชาวจีน เจ้าของร้าน ก็ตะโกน (จริงๆ คงแค่พูดนุ่มๆ แต่เราฟังดูแล้วเหมือนว่าตะโกนไปเสียเอง) มาว่า "คุณต้องการน้ำเพิ่มมั๊ยยย?" ไม่รู้เหมือนกันว่าถามใคร แต่ที่รู้ก็คือ ยังไม่ทันที่จะมีใครตอบ คุณป้า(ผู้ใจดี)ก็ยื่นมือข้ามหน้าข้ามตาผมไป วิถีของมือคุณป้าตัดกับวิถีส้อมของผมซึ่งกำลังพุ่งตรงไปยังไก่อันโอชะชิ้นที่อยู่ข้างหน้า ผมเบรกส้อมเอาไว้ทัน มือของคุณป้าเคลื่อนที่ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ตัดหน้าเพื่อนคนที่นั่งอยู่ถัดไปอีกคนหนึ่ง ก่อนที่จะทำการ landing อย่างมั่นคงลงบนแก้วน้ำสีขาวด้านหน้าเพื่อนคนที่นั่งอยู่ตรงข้ามผม (โดยมารยาท ขออนุญาตสงวนนามเพื่อนๆ ทุกคน ถึงแม้จะไม่มีอะไรเสียหายก็ตาม) แล้วหยิบแก้วน้ำนั้นขึ้นมา นำไปเติมน้ำ แล้วเอากลับมาวางคืนที่เดิม ด้วยวิถีวงโคจรเดิม ทำให้พวกเราที่กำลังทานอาหารกันอย่างอเร็ดอร่อยนั้น ต้องชะงักด้วยท่าเดิมๆ เพิ่มขึ้นมาก็คือคำพูดตามมารยาทว่า "แท้งกิ้ว" แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทานอาหารต่อไป ในใจก็นึกระแวงว่ามือของคุณป้าผู้ใจดี จะมาตัดวิถีส้อม ช้อน หรือตะเกียบของเราอีกทีเมื่อไหร่

เหตุการณ์ที่อาจจะน่ารำคาญนิดๆ นี้ เกิดขึ้นจากความปรารถนาดีของคุณป้า ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อนคนที่เป็นเจ้าของแก้วนั้นเคยกระซิบเบาๆ หลังจากที่ต้องชะงักเพราะโดนแย่งแก้วไปจากมือว่า "ตูว่าตูยังไม่ได้ตอบเลยว่า Yes" คราวนี้เพื่อนคนนั้นไม่ต้องพูดอะไร แค่ชายสายตาหาเพื่อนคนอื่นๆ พวกเราทั้งโต๊ะก็เข้าใจ และหัวเราะเบาๆ อยู่ในลำคอ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

นี่เป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบอาชีพขาดความเป็น "มืออาชีพ" ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะใจดี มีอัธยาศรัยดี และขยันทำงาน แต่ผลที่ได้รับแทนที่จะเป็นความพอใจของลูกค้า กลับกลายเป็นความตกใจ ความไม่ต่อเนื่องของสุนทรียภาพแห่งการกิน และแม้แต่ความรำคาญ

จากการสังเกตของผมและเพื่อนๆ บริกรที่ดี ในร้านอาหารดีๆ ไม่ควรยื่นมือผ่านหน้าลูกค้า ในการเติมน้ำนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะหยิบแก้วไปจากมือของลูกค้าโดยตรงโดยไม่ถามและรอคำตอบเสียก่อน จริงอยู่ที่บริกรไม่ควรทอดทิ้งลูกค้า แต่ก็สำคัญมากที่จะไม่รบกวนลูกค้าบ่อยจนเกินไป

ข้อสังเกตนี้อาจครอบคลุมถึงแนวปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อของวิชาชีพบริกร แท้ที่จริงแล้วคงจะมีอีกมาก อย่างเช่น ควรวางช้อนไว้ตรงไหน วางจานไว้ตรงไหน ควรเดินวนรอบโต๊ะทางไหน ฯลฯ จะมีกี่ข้อนี้ผมไม่ทราบ แต่ผมทราบอยู่อย่างเดียวก็คือ คุณป้าคนนั้นท่านไม่รู้ถึงแนวปฏิบัติเหล่านี้เลย

หลังจากที่อาหารลงท้องไปมากพอสมควรแล้ว (ไม่ได้หิวแทบเป็นแทบตายเหมือนตอนแรกแล้ว) พวกเราก็เริ่มพูดคุยกัน จะคุยเรื่องอะไรล่ะ? ก็เรื่องคุณป้านี้แหละ พวกเราคนไทย เกิดมาโชคดีมีภาษาไทยเป็นของเราเอง มาอยู่อเมริกาก็สามารถนินทาชาวบ้านได้ต่อหน้าต่อตา

ผมหรือใครบางคนพูดขึ้นมาเล่นๆ (สาบานได้ว่าพูดเล่น) ว่า "จริงๆ แล้ว อาชีพ waiter/waitress นี้ ควรจะต้องมี license เพราะมันจัดเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง"

ใครคนหนึ่งบอกว่า "วันนั้นดูหนังเรื่อง Duplex เค้าว่า you can't plum in New York City without license." (คุณจะซ่อมท่อน้ำในเมืองนิวยอร์คไม่ได้ถ้าคุณไม่มีใบอนุญาต)

บทสนทนาที่เหลือ เป็นไปในลักษณะนี้....

"อ้าว!? ทำไมต้องควบคุมด้วย แค่เรื่องท่อน้ำ?" ใครคนนึงถาม
ใครอีกคนตอบ "อ้อ ก็มันอันตรายไง ถ้าซ่อมมั่วๆ น้ำอาจจะท่วมอพาร์ตเมนท์ คนอื่นเดือนร้อน"

"อ้อ! มันมีผลต่อ ความมั่นคงของชาติ นี่เอง"

จริงๆ แล้ว เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนี้ มันจำเป็นสำหรับทุกอาชีพที่หากปฏิบัติผิดพลาดจะทำให้เกิดความเสียหายกับคนอื่น และความเสียหายนั้นอาจกระทบต่อ ความมั่นคงของชาติ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือแพทย์ ถ้าแพทย์ไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาชีพมารักษาคน คนนั้นก็ตกอยู่ในอันตราย อาจถูกให้ยาผิด ป่วยหนักกว่าเดิม หรืออาจตายได้ หรือแย่กว่านั้น.. คือเป็นบ้า วิ่งไปฆ่าคนอื่นตายหลายๆ คน

ถ้าแพทย์ทั่วประเทศไม่มีมาตรฐาน ชีวิตของคนในชาติก็ตกอยู่ในอันตราย กระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ

อึ้ม... คราวนี้ลองมาคิดสิว่า วิชาชีพบริกรนี้กระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร? อึ้ม here we go๊, ถ้าพนักงานไม่มีคุณภาพ ก็อาจลืมล้างมือก่อนมาให้บริการ อาจเผลอวางแก้วน้ำสลับที่กันหลังจากหยิบไปเติมน้ำ ทำให้คนในโต๊ะอาหารติดโรคกัน อาจเผลอยื่นมือยื่นแขนตัดหน้าลูกค้า ทำให้ลูกค้าเผลอเอามีดหรือส้อมไปชน เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ หรือลูกค้าอาจตกใจ โยนส้อมทิ้งเพื่อไม่ให้ชน แต่ส้อมอาจบินไปใส่ลูกตาของเพื่อนร่วมโต๊ะคนอื่นได้ เทียนที่ตั้งอยู่กลางโต๊ะ อาจถูกผลักให้ล้มโดยไม่ตั้งใจ เกิดอัคคีภัยขึ้นได้ ไฟอาจลุกลามไปทั่วร้าน ไปยังตึกข้างเคียง ซึ่งอาจอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตสารเคมีที่ไวไฟ เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ผู้คนตายเป็นพันเป็นหมื่นได้ ควันไฟจากสารเคมี อาจแพร่กระจายปกคลุมทั้งเมือง ทำให้ผู้คนป่วย และความเจ็บป่วยอาจสืบทอดทางพันธุกรรม ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้คุณภาพของประชากรลดลง ประเทศชาติขาดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในโลก ทำให้ขาดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ต้องลดขนาดกองทัพเพื่อประหยัดงบประมาณ ทำให้อาจถูกศัตรูรุกรานโดยไม่มีทางปกป้องตนเองได้ ... ทีนี้เห็นหรือยัง ว่ามันกระทบต่อความมั่นคงของชาติจริงๆ

ดังนั้น สรุปได้ว่า อาชีพบริกร เอ๊ย วิชาชีพบริกร ควรจะต้องถูกควบคุม ผู้ที่จะเป็นบริกรได้ควรจะต้องไปสอบเพื่อรับใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพบริกร ผู้ที่ทำผิดต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ หรือปฏิบัติด้วยความบกพร่อง ควรถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ที่เป็นบริกรโดยไม่มีใบอนุญาตควรถูกจับมาดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาบั่นทอนความมั่นคงของชาติ มีโทษจำคุก 10 ปีเป็นอย่างต่ำ และประหารชีวิตเป็นอย่างสูง

คุณคงถาม "But why stop here?" .... จะหยุดอยู่ที่นี่ทำไม? อาชีพอื่นมีอีกเยอะแยะ อาชีพใดบ้างที่ควรจะถูกควบคุม? ถ้าจะตอบคำถามนี้ ก็ต้องถามต่อไปว่า อาชีพอะไรบ้างล่ะ ที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ?

โอ พระเจ้า พระพุทธเจ้า ... คำตอบก็คือ "ทุกอาชีพ" ครับท่าน!!!

นักการเมือง ครู ภารโรง คนขับรถ คนสวน คนขายพวงมาลัยตามสี่แยก พระ อิหม่าม บาตรหลวง พนักงานรับโทรศัพท์ ฯลฯ ทุกอาชีพล้วนส่งผลต่อคนอื่นทั้งนั้น ซึ่งสิ่งที่ส่งผลต่อคนอื่นได้ ก็สามารถส่งผลต่อความมั่นคงของชาติได้ในที่สุด! ดังนั้น ทุกอาชีพจะต้องถูกยกระดับให้เป็นวิชาชีพ และจะต้องถูกควบคุมให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งนั้น เมื่อทำได้ดังนี้ ก็เท่ากับเรายอมรับในความเท่าเทียมกันแห่งเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกๆ อาชีพ

โอ้ ... โอ้... หรือแม้กระทั่ง แม้กระทั่งอาชีพขอทาน เอ๊ย วิชาชีพขอทาน ก็ต้องมีใบอนุญาตฯ นะ ถ้าขอทานไม่ได้มาตรฐานแล้วบ้านเมืองจะวุ่นวายมาก ตัวอย่างของข้อปฏิบัติของบุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพขอทานก็เช่น:
- อาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- ไม่สัมผัสร่างกายเหยื่อ เอ๊ย ลูกค้า
- ห้ามขอใกล้กับตู้ ATM
- ห้ามพกอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น
ฯลฯ

เมื่อขอทานมีมาตรฐาน บ้านเมืองก็จะสงบสุขขึ้น ผู้คนก็จะสามารถให้ความเคารพกับขอทานได้อย่างสนิทใจ (ไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะสกปรก/จะโดนปล้น) และการมีขอทานอยู่ตามถนนหนทาง ก็ทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ขึ้น เพราะว่าทำให้ผู้คนได้รู้จักการเสียสละ การไม่ยึดติดกับทรัพย์ของตน และการเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

คำถาม: "ถ้าขอทานคนไหนทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพขอทานล่ะ?"
คำตอบ: "ก็เพิกถอนใบอนุญาตฯ ซะ"
คำถาม: "แล้วเค้าจะทำยังไง?"
คำตอบ: "ก็ต้องเลิกขอทานซะ"
คำถาม: "แล้วจะเอาอะไรกิน"
คำตอบ: "อืม ไม่มีกินก็ต้องตายไป"
คำถาม: "การจะตายนี่ ต้องมีใบอนุญาตด้วยหรือไม่?"
คำตอบ: "อ้อ น่าสนใจ .. จะว่าไปการตายของบุคคล ก็มีผลต่อความมั่นคงของชาติ"
คำถาม: "ถ้าอย่างนั้นก็ต้องสอบใบอนุญาตการตาย?"
คำตอบ: "แม่นแล้ว"
คำถาม: "ถ้าสอบไม่ผ่าน?"
คำตอบ: "ก็ห้ามตาย"
คำถาม: "!??!?!!?"
คำตอบ: "!??!?!!?"

:: ตรงใจผมจริงๆ ::
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pol02290648&day=2005/06/29

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 28 ว่า...

"การที่ท่านบอกว่าเสนอข้อมูลความไม่ชอบมาพากล เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียงของประเทศ ตรงนี้คือความต่างระหว่างพวกเรา ท่านพูดว่าฝ่ายค้านทำลายชื่อเสียงเพราะไปพูดว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการทุจริต แต่ผมเห็นว่าคนที่ทำลายชื่อเสียงของประเทศ คือคนทุจริต และคนละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่คนที่พูดความจริง"

ความเห็นของม็อค
ผมไม่รู้หรอกว่าคุณสุริยะโกงหรือไม่โกง ผมไม่รู้หรอกว่่าคุณอภิืสิทธิ์กล่าวข้อความดังกล่าวด้วยความจริงใจหรือไม่เพียงใด แต่ผมต้องขอบอกว่า ข้อความในย่อหน้าที่แล้วนั้น มัน... โคตรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรๆๆๆๆ ตรงใจผมเลยครับ

รัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ว่าในประเทศไหน ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน ไม่ว่าจะอยู่บนพื้นฐานปรัชญาทางการเมืองแบบเสรีนิยมหรือสังคมนิยม ควรจะจดจำข้อความดังกล่าวใส่กะโหลกเอาไว้เสมอ

อย่างไรก็ดี
ผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า การวิืพากษ์วิจารณ์จำเป็นต้องมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อย่างน้อยก็สำหรับเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ... ซึ่ง หึๆๆๆ พอพูดอย่างนี้ ไอ้พวก(ที่ชอบคิดว่าตัวเอง)รักชาติมากกว่าชาวบ้าน ก็จะออกมาบอกว่า เรื่องโน้นเรื่องนี้ มันมีผลต่อความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น ซึ่งอันนี้ก็ต้องเถียงกันต่อไป ว่าขอบเขตของ "เรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ" นี้มันอยู่ตรงไหน สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าขอบเขตนี้ควรจะกำหนดให้แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

... แล้วมันแค่ไหนล่ะ? อึ้มม... แค่นี้มั้ง >_<

Saturday, June 25, 2005
:: ปฏิบัติการหมูๆ ::
เมื่อ 2-3 วันที่แล้วนั่งดูทีวีช่อง 43 เป็นรายการ Maximum Exposure ซึ่งเป็นรายการที่นำภาพบันทึกวิดิโอของเหตุการณ์จริงที่น่าตื่นเต้นมาให้ดู วันนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Hero ในสถานการณ์ต่างๆ

หนึ่งใน hero ที่เขานำเสนอเป็นกลุ่มของตำรวจ/พนักงานดับเพลิง/หน่วยกู้ภัย ของเมืองเมืองหนึ่ง ได้รับแจ้งว่ามีรถบรรทุกหมูเข้าไปติดอยู่ภายในอุโมงค์เนื่องจากกรงหมูที่บรรทุกมามีความสูงเกินกว่าความสูงของอุโมงค์

กรงหมูชั้นบนสุดนั้นถูกเบียดแน่นกับเพดานของอุโมงค์จนรถขยับไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องพยายามตัดกรงเหล็กชั้นบนสุดออกมา การตัดนั้นก็ทำให้มีสะเก็ดไฟกระเด็นไปโดนลูกหมูบางตัวได้รับความบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ก็ใจดีเอาเสื้อคลุมกันความร้อนของตัวเองไปห่มลูกหมูไว้ จะได้ไม่ถูกสะเก็ดไฟ ในที่สุดปฏิบัติการตัดกรงหมูก็เสร็จเรียบร้อย รถคันนั้นสามารถเคลื่อนที่ออกมาจากอุโมงค์ได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตามมีลูกหมูตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และกรงบางกรงก็เสียหาย เจ้าหน้าที่จึงใจดีช่วยนำลูกหมูแสนน่ารักมาบรรทุกซ้อนท้ายไว้หลังรถมอเตอร์ไซค์

ถึงตอนนี้ เสียงผู้บรรยายในรายการเงียบไปแวบหนึ่ง ราวกับว่าจะให้คนดูคิดต่อไปว่า เจ้าหน้าที่นั้นใจดี อุตส่าห์จะพาหมูไปส่งโรงพยาบาล

แล้วเขาก็พูดขึ้นมาว่า ...
"The pig made it safely to the slaughter house, and he's probably thinking 'dude, thanks for ... nothing!'"
แปลเป็นไทย
"และหมูตัวนั้นก็เดินทางไปถึงโรงฆ่าสัตว์โดยสวัสดิภาพ และมันคงคิดว่า 'เพื่อนเอ๋ย ขอบคุณเหลือเกินที่ไม่ได้ช่วยอะไรฉันเลย!'"

ผมขำก๊ากลั่นบ้าน คุณขำไหม? ผมขำไปได้สักพักก็รู้สึกผิดๆ เหมือนกันที่ขำ เพราะจริงๆ แล้วมันออกจะเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับหมูตัวนั้นจะตายไป แต่ก็นั่นแหละ อย่าแสร้งทำเป็นสงสารเลยถ้าคุณยังกินหมูอยู่ทุกวี่ทุกวัน

Sunday, June 19, 2005
:: ขัตติยพันธกรณี ::
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระประชวรเนื่องจากความเครียดในการแก้ปัญหาบ้านเมืองยามที่ไทยกำลังจะสูญเสียดินแดนให้กับประเทศฝรั่งเศส
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์บทกลอนตอบไปว่า:

ธรรมดามหาสมุทร มีคราวหยุดพายุผัน
มีคราวสลาตัน ตั้งระลอกกระฉอกฉาน
ผิวพอกำลังเรือ ก็แล่นรอดไม่ร้าวราน
หากกรรมจะับันดาล ก็คงล่มทุกลำไป
ชาวเรือก็ย่อมรู้ ฉะนี้อยู่ทุกจิตใจ
แต่ลอยอยู่ตราบใด ต้องจำแก้ด้วยแรงระดม
แก้รอดตลอดฝั่ง จะรอดทั้งจะชื่นชม
เหลือแก้ก็ำจำจม ให้ปรากฎว่าถึงกรรม
ผิวทอดธุระนิ่ง บ่วุ่นวิ่งเยียวยาทำ
ที่สุดก็สูญลำ เหมือนที่แก้ไม่หวาดไหว
ผิดกันแต่ถ้าแก้ ให้เต็มแย่จึงจมไป
ใครห่อนประมาทใจ ว่าขลาดเขลาและเมาเมิน
เสียทีก็มีชื่อ ได้เลื่องลือสรรเสริญ
สงสารว่ากรรมเกิน กำลังดอกจึงจมสูญ

นี่เป็นบทอาขยานที่น่าจดจำมากที่สุดในชีวิต

This page is powered by Blogger. Isn't yours?