Monday, February 23, 2009
:: รสชาติที่เปลี่ยนไป ::
ความฝืดคอและความขมขื่น มันกลายเป็นความชื่นใจและชื่นชม เพราะสิ่งที่ได้ยินระหว่างกระเพราเป็ดคำนั้นเพียงคำเดียว

... ย้อนเวลากลับไป 15 นาที ....

ผมกำลังนั่งทานกระเพราเป็ด (จากร้านรสเด็ด ใน LA) ข้าวกล้อง (จาก 99 Ranch ใน Berkeley) และสลัด (ผักจาก Costco, น้ำสลัดจาก Berkeley Bowl) อย่างเอร็ดอร่อย ตาก็จ้องทีวีซึ่งกำลังเปิดช่อง CNBC สารคดีระหว่างอาหารเย็นมื้อนี้เป็นเรื่องของ Harvard Business School (HBS)

เรื่องราวตอนต้นเป็นการกล่าวถึงชีวิตใน HBS ว่ามันยากลำบากอย่างไรบ้าง ความกดดันมันสูงแค่ไหน การที่นักเรียนต้องทำงาน "36 ชั่วโมง ในแต่ละวัน" มันโหดร้ายเพียงใด

ฟังแล้วก็เครียด น่ากลัว หดหู่ อาหารมื้ออร่อยที่กำลังทานอยู่ก็เริ่มฝืดคอ 

ดูทีวีต่อไปอีกสักพักก็เริ่มมีบทวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีผู้ประสบความสำเร็จตั้งหลายคนที่ไม่ได้จบจาก HBS เช่น บิลล์ เกตส์ แ ห่งไมโครซอฟท์, เซอร์กี้ กับ แลรี่ แห่ง กูเกิ้ล, วอเรน บัฟเฟต์ แห่งโอมาฮา, ฯลฯ ... แท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นไม่เคยจบ business school ที่ไหนเลยด้วยซ้ำ!

ในทางตรงข้าม คนที่จบ HBS บางคนกลับทำเรื่่องงามหน้าไม่น้อย เช่น Jeffrey Skilling ซีอีโอของเอ็นรอน ซึ่งกำลังติดคุกอยู่ในขณะนี้

ฟังถึงจุดนี้ กระเพราะเป็ดของผมเริ่มเปลี่ยนรสชาติ จากแซ่บกลายเป็นเฝื่อน ผักสลัดก็เริ่มเปลี่ยนจากสดเป็นขมปี๋ ข้าวกล้องที่เคยลื่นคอก็เริ่มติดคอ

มันช่างเป็นรายการที่ไม่คู่ควรกับมื้ออาหารอย่างยิ่ง!

... พักโฆษณา ...

ผมทานอาหารของผมไปเรื่อยๆ รสชาติอาหารยังไม่ดีขึ้น ผมคิดว่าจะเปลี่ยนช่องดีหรือไม่ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่ารีบกินให้เสร็จๆ ไปดีกว่า จะได้รีบไปทำงานต่อ ถ้าผมโชคดีผมอาจจะกินเสร็จก่อนโฆษณาจบก็ได้

ผมตักมื้อเกือบสุดท้ายขึ้นมา กำลังจะเอาเข้าปาก ผมคาดหวังรสชาติที่แย่ที่สุดจากกระเพราเป็ดคำนั้น แต่ยังไม่ทันที่ผมจะได้กินมัน.. รายการนั้นกลับมาอีกครั้งพอดี

ช่วงนี้ของรายการเป็นช่วงที่กล่าวถึงศิษย์เก่าที่น่าชื่นชมของ HBS: แคธี่ จูสตี (Kathy Giusti) 

... ย้อนเวลากลับไป 13 ปี ...

หลังจากเรียนจบ Harvard Business School คุณ แคธี่ จูสตี ทำงานที่บริษัทยาแห่งหนึ่ง มีลูกหนึ่งคนอายุหนึ่งขวบ 

อยู่ดีๆ แท้ๆ เธอก็ได้ข่าวร้าย

เธอเป็นมะเร็งชนิดที่เรียกว่า Multiple Myeloma ซึ่งในขณะนั้น ไม่มีทางรักษาได้ หมอบอกว่าเธอมีเวลาอีก 3 ปี

แคธี่ เป็นคนเก่ง และเป็นนักสู้ เธอเริ่มหาข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งชนิดนั้น แล้วข้อมูลที่เธอได้รับก็คือ โอกาสเธอมีน้อยมาก ไม่มียาชนิดใดที่จะช่วยยืดชีวิตเธอได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหน่วยงานวิจัยแต่ละแห่งที่กำลังทำวิจัยเรื่องนี้ ก็ต่างทำงานเป็นภาคส่วน ไม่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ

ด้วยความเป็นผู้นำในตัวเธอ เธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่แค่สู้ให้ตัวเองรอด แต่เธอต้องการสู้ให้คนอื่นที่เป็นมะเร็งชนิดนี้รอดใ นที่สุด -- แม้ว่าหากเธอเองจะไม่รอดก็ตาม

เธอจัดตั้งมูลนิธิ Multiple Myeloma Research Foundation (MMRF) ขึ้นมาเพื่อหาเงินสนับสนุนงานวิจัยมะเร็ง และเธอเองก็ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อบริหารจัดการมูลนิธินี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เธอประสานงานกับหน่วยงานวิจัยและโรงพยาบาลต่างๆ 15 แห่ง 

ด้วยความถนัดของเธอทางธุรกิจ เธอจึงบริหารจัดการมูลนิธินี้อย่างธุรกิจ จัดสรรผลประโยชน์ให้ฝ่ายต่างๆ มีการกำหนดเป้าหมายและเส้นตายอย่างชัดเจน มีการประเมินผลอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างจึงเคลื่อนที่เร็วมาก -- มันจำเป็นต้องเคลื่อนที่เร็วมาก เพราะเธอเองไม่มีเวลาเหลือมากนัก

นักข่าวถามเธอว่า "คุณสร้างมูลนิธินี้เพื่อตัวเองหรือเพื่อคนอื่น?" 

เธอตอบว่า หากเธออยู่ได้แค่อีกสามปี ลูกสาวอาจจะจำเธอไมได้เมื่อเธอจากไป แต่หากมูลนิธินี้ประสบความสำเร็จบ้าง เธออาจจะอยู่ได้อีกสัก 4 ปี เมื่อลูกสาวเธออายุ 5 ขวบ ก็คงจะจำเธอได้ 

เธอไม่ได้อวดอ้างว่าตัวเองทำเพื่อมนุษยชาติ เธอทำเพื่อลูกสาวคนเดียวของเธอ

ผมฟังแล้วตื้นตัน นี่แหละหนา ความคิดของคนที่เป็นแม่

... เวลาผ่านไป 5 ปี ...

เธอยังไม่ตาย! 

และไม่ใช่เท่านั้น เพื่อนร่วมชะตากรรมของเธออีกกว่า 50,000 คนทั่วโ ลก ต่างได้รับอานิสงส์จากยา 5 ชนิด ที่มูลนิธิ MMRF ของเธอ ได้มีส่วนสนับสนุนเงินกว่า 102 ล้านดอลล่าร์ ในการค้นพบ: Velcade, Thalomid, Revlimid, และ Doxil

เธอเองมีชีวิตรอดได้จากการทำเคมีบำบัด การปลูกถ่ายไขกระดูก และการใช้ยาขนานใหม่ที่หากเธอไม่ได้ลุกขึ้นสู้อย่างสุดชีวิตในวันนั้น อาจจะถูกค้นพบได้ไม่ทันในวันนี้

ค่าเฉลี่ยอายุขัยของผู้ที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ เพิ่มขึ้นจาก 3-4 ปี เป็น 6-7 ปี เธอบอกว่าแม้จะฟังดูเหมือนไม่มาก แต่สำหรับผู้ป่วยแล้ว การได้รับเวลาแห่งชีวิตเพิ่มขึ้นสองเท่านั้นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ไม่น้อยเลย

เธอได้รับเวลาแห่งชีวิตคืน มากกว่าสองเท่า

... เวลาผ่านไป จนถึงปัจจุบัน ...

เธอยังมีชีวิตอยู่ ยังคงทำงานอยู่กับมูลนิธิ MMRF และวันนี้เธออยู่ในจอทีวีข้างหน้าผม ในฐานะศิษย์เก่าตัวอย่างของ Harvard Business School

เพื่อนๆ สมัยเรียน ได้ช่วยเธอเขียนแผนธุรกิจของมูลนิธิตั้งแต่เริ่มต้น ความรู้ที่เธอได้เรียนมาช่วยให้เธอค้นพบวิธีดำเนินการอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญที่สุด ประสบการณ์ที่แข็งกล้าของเธอสอนให้เธอเป็นนักสู้และนักแก้ปัญหา เมื่อเธอพบว่าตนเองเป็นมะเร็งเธอก็หาวิธีแก้ตามแบบฉบับของเธอ 

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอยังมีชีวิตอยู่ได้ เธอมีชีวิตอยู่กับลูกสองคนของเธอ และมูลนิธิ MMRF ซึ่งกำลังพยายามวิจัยพัฒนายาอีกกว่า 30 รายการ ด้วยความหวังจะรักษามะเร็งชนิดนี้ให้หายขาดได้ในทุกคน

... เวลาผ่านไปเ พียงชั่วขณะ ...

อาหารอร่อยแล้ว กระเพราเป็ดคำนั้นเคลื่อนเข้าปากผม ผมเคี้ยวและกลืนอย่างเอร็ดอร่อยได้อีกครั้ง ความฝืดคอและความขมขื่น มันกลายเป็นความชื่นใจและชื่นชม เพราะสิ่งที่ได้ยินระหว่างกระเพราเป็ดคำนั้นเพียงคำเดียว

... จบ ...

วิดิโอ จาก CNBC: http://www.cnbc.com/id/15840232?video=946536690
(แค่บางส่วน)

วิดิโอ จาก CNN: http://money.cnn.com/video/#/video/news/2008/03/07/gw.cancer.cnnmoney
(ออกอากาศตั้งแต่ มี.ค. 08)

เว็บไซต์ของมูลนิธิ MMRF: http://www.multiplemyeloma.org/foundation/1.19.php
(บริจาคเงินได้ที่นี่)


Labels: , , , ,


This page is powered by Blogger. Isn't yours?