Sunday, October 10, 2010
:: มะโฮ เบต้ากลูแคน ::
เมื่อคืนวันพฤหัสฯ​ ที่ 7 ต.ค. 2553 ผมโทรคุยกับคุณแม่ แล้วได้ยินว่าคุณแม่ซื้อ "อาหารเสริม" มากล่องหนึ่ง ราคาประมาณ 3000 บาท ในกล่องมีอยู่ 5 ซอง ทานได้ 5 วัน ราคาเฉลี่ยวันละประมาณ 600 บาท

คนรู้จักที่เคารพนับถือกันอยู่ท่านหนึ่งเป็นคนพาผู้ขายมาแนะนำให้ โดยผู้ขายบอกว่าอาหารเสริมชนิดนี้สามารถลดผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดได้

คุณแม่เห็นว่าราคาวันละ 600 บาทนี้ ถือว่าถูกมากเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการรักษามะเร็ง จึงตัดสินใจซื้อมาลอง คิดว่าคงไม่มีอะไรเสียหาย ถ้าได้ผลก็ดี ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไร

ผมขอให้คุณแม่รอก่อน อย่าเพิ่งทานจนกว่าจะได้ปรึกษากับคุณหมอนภา ในระหว่างนี้ผมจะทำการสืบค้นข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์นี้มีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่อย่างไร

---

อาหารเสริมชนิดนี้ชื่อว่า มะโฮ เบต้ากลูแคน

จากการสืบค้นพบว่าบริษัทที่นำเข้า ชื่อว่า บริษัท แคทส์ ดอต คอม (ประเทศไทย​) จำกัด ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ มีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เขียนอยู่ในหน้านี้
http://www.cats.co.th/product_q&a.html

สาระสำคัญที่ผมอ่านได้จากเว็บไซต์ของบริษัทนั้นคือ:
1) ผลิตภัณฑ์นี้คือ "อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ 'ไม่ใช่ยารักษาโรค'"

2) ไม่มีการกล่าวอ้างว่าจะช่วยลดผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดแต่อย่างใด แสดงว่าข้ออ้างดังกล่าวคงเกิดจากการบิดเบือน (โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ของผู้ขายเอง

3) ในคำถาม-ตอบ ข้อที่ 9 มีการกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์นี้ "ได้มาจากธรรมชาติและไม่ใช่ยารักษาโรค จึงไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงแต่อย่างใด"​ ซึ่งเป็นตรรกะที่ผิดพลาด ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติแท้ๆ ก็ทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น poison oak, poison ivy, พืชมีพิษทั้งหลาย, ฯลฯ

4) มีการกล่าวว่า "สามารถรับประทานร่วมกับยาได้เช่นเดียวกับอาหารประเภทอื่นๆ แต่เพื่อความมั่นใจแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์"​ ซึ่งข้อความนี้ผมคิดว่าควรจะเขียนตัวโตๆ และเขียนแปะไว้บนกล่องและด้านบนของเว็บไซต์ให้เห็นชัดเจนกว่านี้

5) ผู้ที่รับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์นี้คือ "สถาบันคิตะซาโตะ" ซึ่งอาจจะมีจริงหรือไม่มีจริง อาจจะเชื่อถือได้หรืออาจจะเชื่อถือไม่ได้ อาจจะมีการรับรองคุณภาพจริงๆ หรือไม่จริงก็ได้ แต่ความจริงก็คือ ผมไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย เพราะในเว็บดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสถาบันนี้อยู่ที่ใด มีเว็บไซต์และข้อมูลติดต่อของผู้รับผิดชอบหรือไม่? มีประกาศนียบัตรให้สามารถตรวจสอบได้เป็นภาษาอังกฤษหรือไม่? มีแต่ข้อมูลว่าเป็น "สถาบันอิสระซึ่งทำการวิเคราะห์โครงสร้างระดับโมเลกุลของสารที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ (เบต้า-กลูแคน) กระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการแห่งประเทศญี่ปุ่น" ซึ่งน่าแปลกใจเหมือนกันว่าหมายความว่าอย่างไร?​ ทำไมสถาบัน "อิสระ" นี้จึงขึ้นกับกระทรวงแรงงาน?​?​ บางทีอาจจะเขียนผิด บางทีญี่ปุ่นอาจจะมีระบบการจัดการที่แตกต่างจากไทย

6) ไม่พบว่ามีอยู่ของโรงงานที่ผลิต ซึ่งน่าแปลกใจ เหตุใดจึงไม่บอกสถานที่ผลิต?

7) บริษัทผู้นำเข้านี้ท่าทางจะมีตัวตนอยู่จริงๆ มีที่อยู่ของบริษัทอยู่ที่ "2521/33 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ" และมีสำเนาของใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ. ให้เห็นได้อยู่ที่ http://www.cats.co.th/plan9.html ซึ่งจากการอ่านดูเบื้องต้นไม่พบความไม่ชอบมาพากลใดๆ

8) ผู้นำเข้าบอกว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หมายเลข อ.ย. 10-3-19051-1-0001 ผมทำการสอบจากเว็บไซต์ของ อ.ย. ที่ http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/food/FSerch.asp?id=food พบว่า "มะโฮ (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้ากลูแคน)" ได้รับการรับรองจาก อ.ย. จริงๆ โดยสถานะกันรับรองยังคงอยู่ การรับรองนี้แสดงว่า อ.ย. รับรองว่า "ปลอดภัยเพียงพอต่อการบริโภค" ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการพิจารณาอนุญาต "ไม่มีการพิสูจน์สรรพคุณใดๆ ทั้งสิ้น" (อ้างจาก http://newsser.fda.moph.go.th/food/FAQ-Ganeral01.php) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ FDA ของสหรัฐอเมริกาใช้ในการพิจารณาอนุญาตอาหารเสริม

---

โดยทั่วไปแล้วผมไม่ชอบลักษณะการทำงานของธุรกิจขายตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ เพราะโครงสร้างของแรงจูงใจทางการเงินในธุรกิจแบบนี้มักก่อให้เกิดภาวะ conflict of interests (แปลว่า ผลประโยชน์ขัดกัน? / ผลประโยชน์ทับซ้อน?)​ ระหว่างเงินกับการให้ข้อมูลอย่างซื่อสัตย์​ เปิดเผย ตรงไปตรงมา

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าตัวผู้ขายเองจะมีความซื่อสัตย์ส่วนตัวอยู่มากเพียงไร แต่ความซื่อสัตย์ดังกล่าวย่อมถูกกดดันจากแรงจูงใจอื่นๆ ทั้งในด้านการเงินและในด้านของตำแหน่งสถานะในบริษัท

ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าผมเชื่อว่าผลิตภัณฑ์จากการขายตรงนั้นเชื่อถือไม่ได้ ความจริงก็คือไม่เกี่ยวกันเลย ผลิตภัณฑ์จะเชื่อถือได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นกับตัวผลิตภัณฑ์เองโดยไม่เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาด แต่คำโฆษณาต่างหากที่อาจจะเชื่อถือไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคำโฆษณาที่มาจากบริษัทที่เชื่อถือไม่ได้

บริษัท แคทส์ ดอต คอม นั้น เชื่อถือได้หรือไม่?

ถ้าเทียบกับบริษัทขายตรงอื่นๆ เช่น เฮอร์บาลไลฟ์ หรือแอมเวย์ (ซึ่งแม้จะมีคนไม่ชอบ แต่ก็เป็นบริษัทที่มีตัวตนอยู่จริงมานานแล้ว) แล้ว ผมเห็นว่า แคทส์ ดอต คอม ยังมีชื่อเสียงน้อยกว่า แต่ถ้าเทียบกับบริษัทที่ขายปูแดงไคโตซาน (ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีลักษณะฉ้อโกง) จากการสืบค้นเบื้องต้นก็พบว่ายังไม่มีข่าวใดๆ ที่ทำให้ แคทส์ ดอต คอม เสียหายถึงขั้นนั้น

ที่พบก็มีแค่ข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งจากสยามธุรกิจที่มีหัวข้อว่า "สคบ.ลับดาบเชือด แคทส์ ดอท คอม ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง"
http://www.mlm.in.th/สคบ.ลับดาบเชือด-แคทส์-ดอท-คอม-ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง.html
ซึ่งดูเหมือนว่าบริษัทนี้จะเคยมีปัญหาทางเทคนิคกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค

และข่าวนี้ จาก นสพ.เส้นทางนักขาย ปีที่ 7 ฉบับที่ 152 ปักษ์หลัง ประจำวันที่ 16-31 มีนาคม 2552 มีหัวข้อข่าวว่า "ระวัง!ช่องโหว่กม.ขายตรงฯเอื้อประโยชน์แชร์ลูกโซ่"
http://forum.myaimstar.com/index.php?topic=59.0
ซึ่งเป็นข่าวที่ขยายความข่าวแรก และมีบทวิเคราะห์ว่าช่องโหว่ของกฎหมายเกี่ยวกับ สคบ. ยังมีอยู่ และเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นประชาชนจะต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก ผมเข้าใจว่านั่นคงแปลว่า การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งอ้างว่าดำเนินการถูกต้องตามกฏของ สคบ. ก็ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าบริษัทนั้น หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ หรือคำอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะเชื่อถือได้เสมอไป วิจารณญาณยังเป็นสิ่งสำคัญเสมอในการตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามที่แพทย์ไม่ได้สั่ง

---

ข้อสรุป​เบื้่องต้น:

1) เนื่องจากบริษัทผู้นำเข้ามีตัวตนจริง และผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจาก อ.ย. ว่าปลอดภัยจริง ผมก็จะไม่แสดงความเห็นแย้งใดๆ ถ้าคุณแม่คิดอยากจะลองทานดู แต่จะต้องปรึกษากับคุณหมอนภาเสียก่อน (คุณหมอนภา คือ oncologist ของคุณแม่)

2) คำกล่าวอ้างสรรพคุณที่ได้ยินจากผู้ขายครั้งแรกที่ว่าสามารถลดผลข้างเคียงของเคมีบำบัดได้ เป็นคำกล่าวที่ไร้สาระ ปราศจากหลักฐาน แม้แต่บริษัทที่นำเข้าเองยังไม่โฆษณาเช่นนั้น

3) กลไกธุรกิจขายตรงเป็นลักษณะที่น่าสงสัย และบริษัทผู้นำเข้าเคยมีปัญหากับ สคบ. จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับบริษัทนี้ ควรจำกัดความสำพันธ์กับบริษัทเพียงแค่ในฐานะผู้ซื้อเท่านั้น


This page is powered by Blogger. Isn't yours?