Monday, February 09, 2009
:: มาฆบูชา น่าอัศจรรย์จริงหรือ?​ ::
เมื่อครั้งผมอยู่ ป.3 (grade school) ผมได้รู้จักวันมาฆบูชา แล้วผมก็งุนงงสงสัย วันนี้ซึ่งผมอยู่ปี 3 (grad school) ผมได้รับคำตอบ


ผมถูกสอนว่า วันมาฆบูชาเป็นวันที่มี "สิ่งอัศจรรย์" เกิดขึ้น 4 ประการ (technical term: "จาตุรงคสันนิบาต")

1) พระอรหันต์ 1250 รูปมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

2) ทุกรูปเป็นพระที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ (technical term: "เอหิภิกขุ")

3) การประชุมเกิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย

4) เป็นวันเพ็ญเดือนสาม (== เดือนมาฆะ)


เอ๊ะ .. มันน่าอัศจรรย์จริงๆ หรือ?


ข้อ 1: สาวกของพระพุทธเจ้ามีอยู่มาก 1250 ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงจนน่าอัศจรรย์ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเลขสวย (1250 = 5*5*5*5*2 = 5^4 * 2) แต่ถ้าเป็น 3125 จะสวยกว่ามาก (3125 = 5^5) 


ข้อ 2: พระพุทธเจ้าทรงบวชให้คนตั้งเยอะแยะ และไม่เป็นที่ชัดเจนว่่านอกจาก 1250 รูปซึ่งเป็นเอหิภิกขุนั้นแล้ว ยังมีพระอรหันต์รูปอื่นซื่งไม่ใช่เอหิภิกขุอยู่ในบริเวณนั้นอีกหรือไม่ 


ข้อ 3: การที่ท่านเหล่านั้นไม่ได้นัดกันไม่ใช่เรื่องแปลก ผมเชื่อว่าทุกวันย่อมมีพระอรหันต์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นเนืองนิจอยู่แล้ว อาจจะมีมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่วัน บางวันอาจจะมีร้อยรูป บางวันพันรูป บางวัน 1024 รูป บางวัน 2048 รูป ฯลฯ​ แต่เผอิญว่าวันนั้นมี 1250 รูป เลขสวยดี ก็เลยเป็นเรื่องขึ้นมา อีกทั้งในตำนานก็ไม่ได้บอกด้วยว่า 1250 เป็นจำนวนพระอรหันต์ที่มากที่สุดที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเดียวกัน 


อีกอย่าง ถ้าท่านเหล่านั้นนัดกันมาได้สิ ถึงจะน่าแปลก สมัยนั้นโทรศัพท์ก็ไม่มี จดหมายก็ต้องใช้ม้าเร็วส่ง ไม่มีรถยนต์ ไม่มี air mail ไม่มีอีเมลล์ ไม่มี facebook ไม่มี hi-5 การนัดกันคงจะยากกว่าการไม่นัดกัน


ข้อ 4: วันเพ็ญเกิดขึ้นทุกเดือน ไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์อยู่แล้ว การที่วันนั้นเป็นวันเพ็ญยิ่งทำให้ข้อ 3 เสียความน่าอัศจรรย์เข้าไปอีก เพราะว่าวันเพ็ญเป็นวันที่มีแสงสว่าง เหมาะกับการเดินทาง เหมาะกับการนั่งฟัง lecture ยามค่ำคืน


ผมจึงนั่งงง ว่าวันนี้มีความสำคัญอย่างไรกันแน่?


...


"โอวาทปาติโมกข์" ใช่แล้ว! โอวาทปาติโมกข์! 


ความสำคัญอีกประการหนึ่งของวันมาฆบูชาก็คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชื่อว่า "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "หัวใจของพระพุทธศาสนา"​ มีใจความสรุปคือ: 1) ทำดี 2) ละชั่ว 3) ทำใจให้ผ่องใส


ความจริงข้อนี้ไม่ได้ถูกจัดเป็นหนึ่งในสี่เรื่องอัศจรรย์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ปรากฎในหนังสือเรียนพระพุทธศาสนาทุกเล่ม


ดังนั้นหากวันมาฆบูชาจะมีความสำคัญ ก็คงไม่ได้สำคัญที่สิ่งอัศจรรย์ข้างต้นเหล่านั้น แต่สำคัญที่ใจความข้อสุดท้ายนี้ต่างหาก ที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันเป็น tag line / slogan / mission statement / motto / catch phrase / axiom / thesis statement ของพระพุทธศาสนา 


การยกคำสอน "ทำดี ละชัว ทำใจให้ผ่องใส" ​ขึ้นเป็นหัวใจของศาสนานั้น ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่สั้น ง่าย ได้ใจความ สามารถแบ่งแยกลักษณะของศาสนาพุทธออกจากศาสนาอื่นได้อย่างชัดเจน ที่เห็นได้ชัดก็คือศาสนานี้เชื่อว่ามนุษย์สามารถ "เลือก" ที่จะทำหรือไม่ทำได้ด้วยตนเอง (เชื่อใน free will), ไม่ยึดมั่นในพระเจ้า (ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีพระเจ้า แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญ), และให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับจิตใจ


แต่กระนั้น ...​ หากลองพิจารณาดูว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมทุกวัน แสดงหลักธรรมต่างๆ อื่นๆ อีกมากมาย ทำไมวันที่พระองค์แสดงหลักธรรมข้ออื่นจึงไม่เป็นวันสำคัญบ้าง?​


ผมจึงต้องนั่งงงต่อไป


...


wikipedia! ใช่แล้ว wikipedia! 


ผมเก็บความงุนงงสงสัยมานานหลายปี แต่ผมไม่เคยวิกิพีเดียเรื่องนี้ดูเลยสักครั้งเดียว (ในที่นี้ "วิกิพีเดีย" เป็น verb) ผมจึงลองเข้าไปอ่านดู ก็พบว่า...


วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือนสาม) ครั้งแรกหลังการตรัสรู้ นับเป็นเวลา 9 เดือนพอดี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องมีเหตุมีผลที่วันเพ็ญเดือนสามครั้งนี้จะมีความพิเศษมากกว่าวันเพ็ญเดือนสามครั้งอื่นๆ 


แต่.. วันเพ็ญเดือนสามแล้วไง? มันสำคัญอย่างไร?


อ่านต่อไปจึงได้เรียนรู้ว่า: "วันเพ็ญเดือนสาม" เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์​ มีชื่อทางเทคนิคว่า "วันศิวาราตรี" ผู้คนจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการ "ลอยบาป" หรือล้างบาปด้วยน้ำ 


พระอรหันต์ 1250 รูปนั้น ล้วนเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน และเคยทำพิธีลอยบาปมาทุกปี จนกระทั่งปีนี้เป็นวันเพ็ญเดือนสามครั้งแรกที่พวกท่านเหล่านั้นจะไม่ได้ทำพิธีให้พระศิวะอีกต่อไป ตรงกันข้าม! ท่านกลับยกขบวนกันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน


การที่พระพุทธเจ้าเลือกแสดงธรรมที่เป็นหัวใจของศาสนาในวันนี้ จึงเป็น milestone ที่สำคัญ เพราะจัดว่าเป็นการประกาศชัยชนะ (ในไตรมาสที่สาม) 


Mission Accomplished!


วันมาฆะบูชามีความอัศจรรย์อย่างนี้นี่เอง :)

Labels:


Comments:
โอ้วว ^^
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?