Monday, March 24, 2008 |
คำตอบก็คือ "มี"
แต่คำถามคืออะไร?
บ่ายวันนั้นแดดออกเปรี้ยง อากาศร้อน แต่ใจคนร้อนกว่า ผมนั่งอยู่บนอัฒจันทร์สนามศุภชลาศัย กำลังชมเกมฟุตบอลที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ แข่งกับโรงเรียนคู่แข่งแห่งหนึ่ง
ผลบอลกำลังเป็นรอง กองเชียร์สวนกุหลาบก็ยิ่งร้อน
เสียงเสียงหนึ่งดังมาจากไม่ไกลนัก เสียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งร้องว่า "เด็กวัด"
ไม่นานเสียงเหล่านั้นก็ดังหนักขึ้น ผู้คนที่ได้ฟังก็ยิ่งคึกคะนอง ตะโกนย้ำถ้อยคำเสียดสีคู่ต่อสู้ "เด็กวัด! เด็กวัด! เด็กวัด!"
ผมนั่งสะท้อนใจ เหตุใดเราจึงนึกว่าเราดีกว่าโรงเรียนคู่แข่งเพียงเพราะชื่อโรงเรียนของเราเพราะกว่า จะว่าไปโรงเรียนสวนกุหลาบฯ นี้ ก็เช่าที่ของวัดเลียบอาศัยอยู่ หากเราต้องเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดเลียบ" แล้ว เรายังจะมีอะไรแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอยู่ไหม?
คำตอบก็คือ "มี"
สวนกุหลาบวิทยาลัยไม่ได้มีดีเพียงเพราะชื่อ ไม่ได้มีดีเพียงเพราะ "บุญเก่า" ที่รุ่นพี่เคยทำมา ไม่ได้มีดีเพียงเพราะความเก่าแก่ และไม่ได้มีดีเพียงเพราะสถานที่ซึ่งเป็นโบราณสถานล้ำค่าของชาติ
แต่เพราะสวนกุหลาบมีคนที่ดี
นักกีฬาบนสนามคือผู้อุทิศตนฝึกซ้อมเพื่อสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เชียร์ลีดเดอร์คือผู้ที่ยอมสละเวลาและความสะดวกสบายเพื่อนำทัพผู้คนให้กำลังใจนักกีฬาอย่างมีวัฒนธรรม อาจารย์และผู้บริหารโรงเรียน คือข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างไม่ย่อท้อเพื่อผลประโยชน์ของนักเรียนและสังคมไทย
สวนกุหลาบเป็นเลิศในทุกด้าน
ในด้านกีฬา เรามีโค้ชกีฬาที่เก่งกาจ มีชุมนุมเชียร์ที่ทุ่มเท มีนักกีฬาที่สามารถ, ในด้านระเบียบวินัย เรามีอาจาย์ฝ่ายปกครองที่เข้มแข็งหนักแน่น, ในด้านวิชาการทั่วไป เรามีคณาจารย์ที่ทุ่มเทสั่งสอนศิษย์ด้วยความเสียสละ
และในด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ เรามีอาจารย์ผกาวดี ทิพย์พยอม และทีมงานห้องกุหลาบเพชร
ผมได้ยินชื่อเสียงอาจารย์ผกาวดีตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนที่สวนกุหลาบฯ ในฐานะที่เป็น "เจ้าแม่" ห้องกุหลาบเพชร แต่ก็ไม่รู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัวจนกระทั่ง ม.3
กระดานข่าวหน้าห้องกุหลาบเพชรติดรูปรุ่นพี่นักเรียนโอลิมปิกวิชาการสาขาต่างๆ ไว้ แต่ละคนแต่งตัวเท่ๆ มีผู้คนไปส่งและต้อนรับมากมายที่สนามบินดอนเมือง สำหรับเด็กที่ไม่เคยใส่ชุดสูท ไม่เคยขึ้นเครื่องบินอย่างผม มันเป็นภาพที่น่าชื่นชมและน่าประทับใจ
ในใจก็ิคิดว่า รุ่นพี่เหล่านั้นไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? และเราจะมีทางไปได้บ้างหรือไม่?
คำตอบก็คือ "มี"
คำตอบอยู่ในห้องกุหลาบเพชรนั้นเอง และคำตอบอยู่ที่อาจารย์ผกาวดีที่กำลังเดินออกมาจากห้องกุหลาบเพชรนั้นเอง
แรกๆ นั้น ผมไม่กล้าพูดอะไรสักคำกับอาจารย์ผกาวดี หนึ่งเพราะเกรงกลัวในรังสีบารมีของ "เจ้าแม่" ตามคำล่ำลือ* และสองเพราะไม่รู้ว่าจะต้องพูดว่าอย่างไร**
ผมเหลือบไปเห็นใบประกาศรับสมัครสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ อ่านดูก็พบว่าใครก็ตามที่สมัครจะมีรุ่นพี่มาติวให้ฟรีๆ ผมคิดว่าวิชาคอมพิวเตอร์น่าจะเป็นวิชาที่สนุกที่สุด อีกทั้งการตีสนิทกับรุ่นพี่ที่เป็นเซียนคอมพิวเตอร์ก็เป็นความคิดที่ดี เผื่อคอมฯ ที่บ้านมีปัญหา จะได้มีผู้ปรึกษาหารือ
ผมเดินเข้าห้องกุหลาบเพชร
ผมสวัสดีอาจารย์ผกาวดี กรอกใบสมัครสอบ ลงชื่อสมัครเข้าเรียน วันนั้นเองที่ได้สนทนากับอาจารย์ผกาวดีเป็นครั้งแรก วันนั้นเองที่ได้ฟังเสียงใสๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังพิเศษ ของอาจารย์ผกาวดีอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชีวิตผมก็เปลี่ยนไป
ผมมารับการติวจากรุ่นพี่ทุกเช้า ทุกเย็น บางวันต้องอยู่ดึกถึงสองทุ่ม หรือบางวันก็ดึกกว่านั้น ในช่วงที่เข้ารอบแรกๆ ไปแล้ว อาจารย์ก็จัดวิทยากรจากภายนอกมาสอนให้ หรือบางครั้งก็จัดรถตู้ของโรงเรียนพานักเรียนไปรับความรู้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ
อาจารย์ผกาวดีจัดการห้องกุหลาบเพชรได้เหมือนกับเป็นโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ภายในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จัดให้มีการติวจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องอย่างไม่เคยขาดตอน จัดให้มีอาหารและเครื่องดื่มมาบำรุงขวัญและกำลังใจนักเรียนอยู่เสมอๆ
นักเรียนมาติวแต่เช้า อาจารย์ก็มาแต่เช้า ถ้านักเรียนต้องอยู่ถึงดึก อาจารย์ก็อยู่ถึงดึกด้วย
เมื่อรุ่นพี่นักเรียนทุน/นักเรียนโอลิมปิกฯ เดินทางไปหรือกลับจากต่างประเทศ อาจารย์จะชวนนักเรียนในห้องกุหลาบเพชรทุกๆ คน ไปเป็นกำลังใจให้กับผู้เดินทางที่สนามบินดอนเมืองทุกครั้ง หลายครั้งที่ผมไปได้ผมก็จะไป แต่คนที่ไปทุกครั้งโดยไม่ขาดก็คืออาจารย์ผกาวดีนั้นเอง
บางครั้งอาจารย์ก็ไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องส่งคนหนึ่งตอนเที่ยงคืน และรอรับอีกคนหนึ่งตอนตีสี่
ระหว่างการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ อาจารย์ผกาวดีก็แวะไปเยี่ยม (พร้อมอาหาร) อยู่บ่อยๆ นับว่าเป็นกำลังใจชั้นดีเลิศ
อาจารย์ไม่เคยกดดันผม แต่อาจารย์ทำตนเป็นตัวอย่างให้ผมเห็นว่า คนที่ทำงานหนักทุ่มเทเพื่อโรงเรียนโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากนั้น น่าชื่นชมเพียงไร
คนแบบนี้นี่แหละ ที่สวนกุหลาบฯ มีมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ
นอกจากโครงการโอลิมปิกวิชาการแล้ว ผมยังได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีในห้องกุหลาบเพชร ในอีกฐานะหนึ่ง ฐานะที่เริ่มจากสตาฟชุมนุมคณิตศาสตร์ ไปจนถึงช่วงที่รับตำแหน่งประธาน และช่วงท้ายที่รับบทบาทเป็นที่ปรึกษา
อาจารย์ที่คอยช่วยเหลือแนะนำงานชุมนุมคณิตศาสตร์ก็คืออาจารย์หมวดวิชาคณิตศาสตร์ทุกท่าน แต่เนื่องจากชุมนุมคณิตศาสตร์ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ห้องกุหลาบเพชร อาจารย์ท่านที่อยู่ใกล้ชิด หาตัวพบ พูดคุย ปรึกษา และปรับทุกข์ ได้ง่ายที่สุดก็คืออาจารย์ผกาวดีนั่นเอง
ผมจำไม่ได้แล้วว่ามีกี่ครั้งกี่หนที่:
- ผมบ่นกับอาจารย์ว่า งานนี้ งานนั้น หาคนมาช่วยทำไม่ได้ ท่าจะไปไม่รอด แต่พออาจารย์ให้คำชี้แนะ งานทุกงานก็สำเร็จลุล่วง
- ผมอยากบอกกับอาจารย์ว่าท้อ เหนื่อย อยากจะเลิก แต่พอเห็นอาจารย์ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผมก็กลับมาทำงานได้อีกครั้ง
- ผมพยายามปฏิเสธ เมื่ออาจารย์ซื้ออาหารมาฝาก หรือพาไปเลี้ยงข้างนอก แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง
ผมจบจากสวนกุหลาบฯ เมื่อปี 2544 จนถึงบัดนี้ 7 ปีแล้ว ผมเรียนอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ทุกครั้งที่ผมกลับมาเมืองไทยก็จะต้องแวะไปหาอาจารย์ แวะไปทีไรก็จะมองเห็นการ์ดปีใหม่ที่ผมเคยเขียนให้แปะอยู่บนโต๊ะทำงานที่เดิมเสมอ และที่แน่นอนที่สุด แวะไปทีไรก็จะถูกอาจารย์เชิญ(ลากตัว)ไปเลี้ยงอาหารอร่อยๆ อยู่เสมอ
ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมโรงเรียน ผมจะถามอาจารย์ว่า นักเรียนเป็นอย่างไร, นักเรียนโอลิมปิกฯ เป็นอย่างไร, ผู้อำนวยการเป็นอย่างไร, คนที่ให้คำตอบได้อย่างละเอียด ตรงเป้า มากที่สุด ก็คืออาจารย์ผกาวดีนั่นเอง
บัดนี้เวลาที่อาจารย์ผกาวดีจะเกษียณอายุราชการมาถึงแล้ว
ส่วนหนึ่งผมใจหาย เป็นห่วงห้องกุหลาบเพชร อีกส่วนหนึ่งผมโล่งใจ อาจารย์ได้พักผ่อนเสียที
ผมเชื่อว่าส่ิงที่อาจารย์ทำไว้ให้สวนกุหลาบฯ จะเป็นสิ่งที่จารึกอยู่ในใจของนักเรียนทุกๆ คน แบบอย่างที่ดีที่อาจารย์ได้ปฏิบัติไว้ จะเป็นแนวทางการทำงานของอาจารย์ท่านอื่นและนักเรียนในรุ่นหลัง
ผมหวังว่าชีวิตหลังเกษียณของอาจารย์จะเต็มไปด้วยสีสัน (โดยมีสีชมพู-ฟ้า เป็นสีหลัก) เต็มไปด้วยความสนุกสนานไม่แพ้ในอดีต แต่ขอให้มีเรื่องปวดศีรษะน้อยลง และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
ส่วนตัวผมจะไม่มีวันลืมความเสียสละทุ่มเทของอาจารย์ที่มีต่อสวนกุหลาบฯ ซึ่งจริงๆ แล้วมีมากมายเกินกว่าที่ผมจะสามารถเขียนบรรยายได้ในบทความนี้ และจะนำมาเป็นข้อเตือนสติในการดำรงชีวิตอยู่เสมอ
ขอจบสั้นๆ ห้วนๆ เพียงเท่านี้ แต่ถ้าจะถามว่าต่อจากนี้ไป สวนกุหลาบฯ จะมีคนที่ดีเทียบเท่ากับอาจารย์ผกาวดีอีกหรือไม่?
คำตอบก็คือ "มี"
แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร
หมายเหตุ:
* = พูดเล่น
** = พูดจริง
ผนวกเดช สุวรรณทัต
25 มีนาคม 2551
แต่คำถามคืออะไร?
บ่ายวันนั้นแดดออกเปรี้ยง อากาศร้อน แต่ใจคนร้อนกว่า ผมนั่งอยู่บนอัฒจันทร์สนามศุภชลาศัย กำลังชมเกมฟุตบอลที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ แข่งกับโรงเรียนคู่แข่งแห่งหนึ่ง
ผลบอลกำลังเป็นรอง กองเชียร์สวนกุหลาบก็ยิ่งร้อน
เสียงเสียงหนึ่งดังมาจากไม่ไกลนัก เสียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งร้องว่า "เด็กวัด"
ไม่นานเสียงเหล่านั้นก็ดังหนักขึ้น ผู้คนที่ได้ฟังก็ยิ่งคึกคะนอง ตะโกนย้ำถ้อยคำเสียดสีคู่ต่อสู้ "เด็กวัด! เด็กวัด! เด็กวัด!"
ผมนั่งสะท้อนใจ เหตุใดเราจึงนึกว่าเราดีกว่าโรงเรียนคู่แข่งเพียงเพราะชื่อโรงเรียนของเราเพราะกว่า จะว่าไปโรงเรียนสวนกุหลาบฯ นี้ ก็เช่าที่ของวัดเลียบอาศัยอยู่ หากเราต้องเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดเลียบ" แล้ว เรายังจะมีอะไรแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอยู่ไหม?
คำตอบก็คือ "มี"
สวนกุหลาบวิทยาลัยไม่ได้มีดีเพียงเพราะชื่อ ไม่ได้มีดีเพียงเพราะ "บุญเก่า" ที่รุ่นพี่เคยทำมา ไม่ได้มีดีเพียงเพราะความเก่าแก่ และไม่ได้มีดีเพียงเพราะสถานที่ซึ่งเป็นโบราณสถานล้ำค่าของชาติ
แต่เพราะสวนกุหลาบมีคนที่ดี
นักกีฬาบนสนามคือผู้อุทิศตนฝึกซ้อมเพื่อสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เชียร์ลีดเดอร์คือผู้ที่ยอมสละเวลาและความสะดวกสบายเพื่อนำทัพผู้คนให้กำลังใจนักกีฬาอย่างมีวัฒนธรรม อาจารย์และผู้บริหารโรงเรียน คือข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างไม่ย่อท้อเพื่อผลประโยชน์ของนักเรียนและสังคมไทย
สวนกุหลาบเป็นเลิศในทุกด้าน
ในด้านกีฬา เรามีโค้ชกีฬาที่เก่งกาจ มีชุมนุมเชียร์ที่ทุ่มเท มีนักกีฬาที่สามารถ, ในด้านระเบียบวินัย เรามีอาจาย์ฝ่ายปกครองที่เข้มแข็งหนักแน่น, ในด้านวิชาการทั่วไป เรามีคณาจารย์ที่ทุ่มเทสั่งสอนศิษย์ด้วยความเสียสละ
และในด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ เรามีอาจารย์ผกาวดี ทิพย์พยอม และทีมงานห้องกุหลาบเพชร
ผมได้ยินชื่อเสียงอาจารย์ผกาวดีตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนที่สวนกุหลาบฯ ในฐานะที่เป็น "เจ้าแม่" ห้องกุหลาบเพชร แต่ก็ไม่รู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัวจนกระทั่ง ม.3
กระดานข่าวหน้าห้องกุหลาบเพชรติดรูปรุ่นพี่นักเรียนโอลิมปิกวิชาการสาขาต่างๆ ไว้ แต่ละคนแต่งตัวเท่ๆ มีผู้คนไปส่งและต้อนรับมากมายที่สนามบินดอนเมือง สำหรับเด็กที่ไม่เคยใส่ชุดสูท ไม่เคยขึ้นเครื่องบินอย่างผม มันเป็นภาพที่น่าชื่นชมและน่าประทับใจ
ในใจก็ิคิดว่า รุ่นพี่เหล่านั้นไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? และเราจะมีทางไปได้บ้างหรือไม่?
คำตอบก็คือ "มี"
คำตอบอยู่ในห้องกุหลาบเพชรนั้นเอง และคำตอบอยู่ที่อาจารย์ผกาวดีที่กำลังเดินออกมาจากห้องกุหลาบเพชรนั้นเอง
แรกๆ นั้น ผมไม่กล้าพูดอะไรสักคำกับอาจารย์ผกาวดี หนึ่งเพราะเกรงกลัวในรังสีบารมีของ "เจ้าแม่" ตามคำล่ำลือ* และสองเพราะไม่รู้ว่าจะต้องพูดว่าอย่างไร**
ผมเหลือบไปเห็นใบประกาศรับสมัครสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ อ่านดูก็พบว่าใครก็ตามที่สมัครจะมีรุ่นพี่มาติวให้ฟรีๆ ผมคิดว่าวิชาคอมพิวเตอร์น่าจะเป็นวิชาที่สนุกที่สุด อีกทั้งการตีสนิทกับรุ่นพี่ที่เป็นเซียนคอมพิวเตอร์ก็เป็นความคิดที่ดี เผื่อคอมฯ ที่บ้านมีปัญหา จะได้มีผู้ปรึกษาหารือ
ผมเดินเข้าห้องกุหลาบเพชร
ผมสวัสดีอาจารย์ผกาวดี กรอกใบสมัครสอบ ลงชื่อสมัครเข้าเรียน วันนั้นเองที่ได้สนทนากับอาจารย์ผกาวดีเป็นครั้งแรก วันนั้นเองที่ได้ฟังเสียงใสๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังพิเศษ ของอาจารย์ผกาวดีอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชีวิตผมก็เปลี่ยนไป
ผมมารับการติวจากรุ่นพี่ทุกเช้า ทุกเย็น บางวันต้องอยู่ดึกถึงสองทุ่ม หรือบางวันก็ดึกกว่านั้น ในช่วงที่เข้ารอบแรกๆ ไปแล้ว อาจารย์ก็จัดวิทยากรจากภายนอกมาสอนให้ หรือบางครั้งก็จัดรถตู้ของโรงเรียนพานักเรียนไปรับความรู้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ
อาจารย์ผกาวดีจัดการห้องกุหลาบเพชรได้เหมือนกับเป็นโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ภายในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จัดให้มีการติวจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องอย่างไม่เคยขาดตอน จัดให้มีอาหารและเครื่องดื่มมาบำรุงขวัญและกำลังใจนักเรียนอยู่เสมอๆ
นักเรียนมาติวแต่เช้า อาจารย์ก็มาแต่เช้า ถ้านักเรียนต้องอยู่ถึงดึก อาจารย์ก็อยู่ถึงดึกด้วย
เมื่อรุ่นพี่นักเรียนทุน/นักเรียนโอลิมปิกฯ เดินทางไปหรือกลับจากต่างประเทศ อาจารย์จะชวนนักเรียนในห้องกุหลาบเพชรทุกๆ คน ไปเป็นกำลังใจให้กับผู้เดินทางที่สนามบินดอนเมืองทุกครั้ง หลายครั้งที่ผมไปได้ผมก็จะไป แต่คนที่ไปทุกครั้งโดยไม่ขาดก็คืออาจารย์ผกาวดีนั้นเอง
บางครั้งอาจารย์ก็ไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องส่งคนหนึ่งตอนเที่ยงคืน และรอรับอีกคนหนึ่งตอนตีสี่
ระหว่างการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ อาจารย์ผกาวดีก็แวะไปเยี่ยม (พร้อมอาหาร) อยู่บ่อยๆ นับว่าเป็นกำลังใจชั้นดีเลิศ
อาจารย์ไม่เคยกดดันผม แต่อาจารย์ทำตนเป็นตัวอย่างให้ผมเห็นว่า คนที่ทำงานหนักทุ่มเทเพื่อโรงเรียนโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากนั้น น่าชื่นชมเพียงไร
คนแบบนี้นี่แหละ ที่สวนกุหลาบฯ มีมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ
นอกจากโครงการโอลิมปิกวิชาการแล้ว ผมยังได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีในห้องกุหลาบเพชร ในอีกฐานะหนึ่ง ฐานะที่เริ่มจากสตาฟชุมนุมคณิตศาสตร์ ไปจนถึงช่วงที่รับตำแหน่งประธาน และช่วงท้ายที่รับบทบาทเป็นที่ปรึกษา
อาจารย์ที่คอยช่วยเหลือแนะนำงานชุมนุมคณิตศาสตร์ก็คืออาจารย์หมวดวิชาคณิตศาสตร์ทุกท่าน แต่เนื่องจากชุมนุมคณิตศาสตร์ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ห้องกุหลาบเพชร อาจารย์ท่านที่อยู่ใกล้ชิด หาตัวพบ พูดคุย ปรึกษา และปรับทุกข์ ได้ง่ายที่สุดก็คืออาจารย์ผกาวดีนั่นเอง
ผมจำไม่ได้แล้วว่ามีกี่ครั้งกี่หนที่:
- ผมบ่นกับอาจารย์ว่า งานนี้ งานนั้น หาคนมาช่วยทำไม่ได้ ท่าจะไปไม่รอด แต่พออาจารย์ให้คำชี้แนะ งานทุกงานก็สำเร็จลุล่วง
- ผมอยากบอกกับอาจารย์ว่าท้อ เหนื่อย อยากจะเลิก แต่พอเห็นอาจารย์ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผมก็กลับมาทำงานได้อีกครั้ง
- ผมพยายามปฏิเสธ เมื่ออาจารย์ซื้ออาหารมาฝาก หรือพาไปเลี้ยงข้างนอก แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง
ผมจบจากสวนกุหลาบฯ เมื่อปี 2544 จนถึงบัดนี้ 7 ปีแล้ว ผมเรียนอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ทุกครั้งที่ผมกลับมาเมืองไทยก็จะต้องแวะไปหาอาจารย์ แวะไปทีไรก็จะมองเห็นการ์ดปีใหม่ที่ผมเคยเขียนให้แปะอยู่บนโต๊ะทำงานที่เดิมเสมอ และที่แน่นอนที่สุด แวะไปทีไรก็จะถูกอาจารย์เชิญ(ลากตัว)ไปเลี้ยงอาหารอร่อยๆ อยู่เสมอ
ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมโรงเรียน ผมจะถามอาจารย์ว่า นักเรียนเป็นอย่างไร, นักเรียนโอลิมปิกฯ เป็นอย่างไร, ผู้อำนวยการเป็นอย่างไร, คนที่ให้คำตอบได้อย่างละเอียด ตรงเป้า มากที่สุด ก็คืออาจารย์ผกาวดีนั่นเอง
บัดนี้เวลาที่อาจารย์ผกาวดีจะเกษียณอายุราชการมาถึงแล้ว
ส่วนหนึ่งผมใจหาย เป็นห่วงห้องกุหลาบเพชร อีกส่วนหนึ่งผมโล่งใจ อาจารย์ได้พักผ่อนเสียที
ผมเชื่อว่าส่ิงที่อาจารย์ทำไว้ให้สวนกุหลาบฯ จะเป็นสิ่งที่จารึกอยู่ในใจของนักเรียนทุกๆ คน แบบอย่างที่ดีที่อาจารย์ได้ปฏิบัติไว้ จะเป็นแนวทางการทำงานของอาจารย์ท่านอื่นและนักเรียนในรุ่นหลัง
ผมหวังว่าชีวิตหลังเกษียณของอาจารย์จะเต็มไปด้วยสีสัน (โดยมีสีชมพู-ฟ้า เป็นสีหลัก) เต็มไปด้วยความสนุกสนานไม่แพ้ในอดีต แต่ขอให้มีเรื่องปวดศีรษะน้อยลง และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
ส่วนตัวผมจะไม่มีวันลืมความเสียสละทุ่มเทของอาจารย์ที่มีต่อสวนกุหลาบฯ ซึ่งจริงๆ แล้วมีมากมายเกินกว่าที่ผมจะสามารถเขียนบรรยายได้ในบทความนี้ และจะนำมาเป็นข้อเตือนสติในการดำรงชีวิตอยู่เสมอ
ขอจบสั้นๆ ห้วนๆ เพียงเท่านี้ แต่ถ้าจะถามว่าต่อจากนี้ไป สวนกุหลาบฯ จะมีคนที่ดีเทียบเท่ากับอาจารย์ผกาวดีอีกหรือไม่?
คำตอบก็คือ "มี"
แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร
หมายเหตุ:
* = พูดเล่น
** = พูดจริง
ผนวกเดช สุวรรณทัต
25 มีนาคม 2551