Friday, July 08, 2005
:: อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน ::
ท่านว่าอย่า ไว้ใจทาง วางใจคน
น่าสับสน ยิ่งนัก ชักสงสัย
ให้ไม่เชื่อ เส้นทาง ช่างปะไร
แต่ไม่ให้ เชื่อคน จนปัญญา!!

ก็ตัวท่าน ที่บอก ไม่ให้เชื่อ
ไม่ใช่เสือ ไม่แมว ไม่ใช่หมา
แต่เป็นคน เป็นมนุษย์ ธรรมดา
แล้วเราหนา จะเชื่อท่าน ได้งั้นรือ?

ถ้าจะเชื่อ ก็จะกลาย เป็นอันว่า
เชื่อว่าอย่า ไว้ใจ อย่ายึดถือ
อย่าเชื่อคำ ที่ท่านสอน ให้ฝึกปรือ
นั่นก็คือ อย่าไว้ใจ ท่านเสียเอง

แต่ถ้าเรา ไม่ไว้ใจ ในคำท่าน
ก็แล้วกัน! อย่างนี้มัน ก็ตรงเผง
กับถ้อยคำ ที่ท่านสอน อย่างเจ๋งเป้ง
จึงนั่งเซ็ง จะไว้ใจ หรือไม่ดี?!

Comments:
เสียงสัมผัสท่อนสุดท้ายฟังดูแปร่งๆ นะครับ ใครลองช่วยผม fix ที (fix โดยไม่เปลี่ยนความหมาย)

ใครอยากแต่งกลอนโต้ เชิญเลยนะครับพ้มมม :)
มาช่วยกัน solve paradox แห่งความไว้ใจ
 
เค้า(imply)ว่าอย่าเชื่อโดยไม่ได้คิดให้ดีก่อนไม่ใช่เหรอ ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้เชื่อเลย

คนเรานี้ เห็นท่าทางดีๆ แต่งตัวดี เนี่ย เราต้องคิดก่อนว่าสิ่งที่เค้าทำมันถูกไหม มันเข้าท่าไหม ไม่ใช่ว่าเห็นแต่งตัวดี เห็นเป็นเพื่อน เป็นอาจารย์ เป็นนักปราชญ์ ก็เชื่อไปซะทุกเรื่องซะงั้น

แล้วม็อคอ่ะ ตกลงจะเชื่อที่เค้าสอนว่าไม่ให้เชื่อคนหรือเปล่าล่ะจ๊ะ :)
ม็อคจะเชื่อเราที่เราพูดว่าควรคิดก่อนเชื่อไหมล่ะจ๊ะ ;)

ปล. ผีหลอกมาก เราเขียนเรื่องคล้ายๆกัน ว่าไม่ควรเชื่อคนโดยที่เรายังไม่ได้คิดให้ถ้วนก่อนที่บล็อกเราเมื่อกี้นี้เอง ไม่ได้อ่านของม็อคก่อนด้วยนา
 
การที่ใครสักคนบอกเราว่าไม่ให้เชื่อคนง่ายนั้น มันช่างดูเป็นคำสอนที่น่าเชื่อถือเสียยิ่งนัก อย่างหนึ่งเพราะมันฟังดูมีเหตุมีผล อีกอย่างหนึ่งเพราะมันแสดงถึงความจริงใจของผู้สอน ว่าอย่างน้อยเขาก็ไม่ได้สอนให้เราเชื่อเขาอย่างหมดใจโดยไม่ไตร่ตรอง ดังนั้นก็เท่ากับว่า เขาคงไม่มีเจตนาจะหลอกลวงอะไรเรา

ดังนั้นเทคนิคการสอนคนไม่ให้เชื่อคนง่ายนี้ จึงอาจถูกนำมาใช้โดยบุคคลผู้ไม่หวังดี ต้องการเบี่ยงเบนความรู้สึกของเราให้ไปเชื่อในความจริงใจของเขา เพื่อเหตุผลแอบแฝงบางประการก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี หากเราจะเชื่อคนที่สอนไม่ให้เราเชื่อ เฉพาะในแง่ที่ว่าไม่ควรเชื่อใจคนอื่นนั้น ก็คงไม่ใช่ก้าวที่ผิดพลาดอะไรนัก หากเราไม่ลืมไม่เลือนที่จะนำคำสอนนั้นมาพิจารณาใช้กับคนที่สอนนั้นเองเสียด้วย ก่อนที่เราจะเชื่อคำพูดคำอื่นๆ ของเขา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ตัวอย่างของผู้ที่สอนให้คนไม่เชื่อคนง่าย ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดนั้นก็คงเป็นพระพุทธเจ้านี่เอง พระองค์เคยสอนหลักกาลามสูตร ซึ่งสอนไม่ให้คนหลงเชื่อแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ

หากใครได้อ่านหลักกาลามสูตรแล้ว คงเห็นตรงกับว่า เราสามารถสร้างข้อสรุปได้จากหลักดังกล่าว ว่าเราไม่ควรปักใจเชื่อคำสอนใดเพียงเพราะว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน

... เราควรพิจารณาไตร่ตรองหลักธรรมต่างๆ ให้เห็นจริงด้วยตนเอง
 
สาธุน้องม๊อคกับย่อหน้าสุดท้ายในcommentที่แล้วจ้ะ :)

เราอ่านมาเรื่อยๆในใจก็คิดว่าจะโพสต์ตอบอย่างที่น้องม๊อคเขียนนั่นแหละ..
เลยไม่ต้องตอบแล้ว :)
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?