Sunday, July 03, 2005
:: อริยสัจ ๔ ::
เคยอ่านตำราพระพุทธศาสนาฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษไหมครับ?

ผมไม่เคยคิดจะอ่านเลย รู้สึกว่าตำราพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษาไทยมีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด แถมเราก็เป็นคนไทย อ่านภาษาไทยสะดวกกว่า ดังนั้น อ่านตำราไทยคงจะดีกว่า

หรือถ้ารู้สึกว่าอ่านภาษาไทยมันไม่เท่ อยากเท่ก็ไปเรียนภาษาบาลี แล้วไปอ่านฉบับภาษาบาลีซะเลยสิครับ เท่กว่ากันเยอะ

จะไป(กระแดะ)อ่านภาษาอังกฤษทำไม?

เมื่อวานนี้ผมเพิ่งรู้เองว่าทำไม...

ผมและเพื่อนๆ หลบร้อนกันอยู่ที่ร้านขายหนังสือ Barnes & Noble ในร้านก็มีหนังสือมากมายทุกรูปแบบ ผมเดินๆ ไปมา ก็ไปสะดุดตากับหนังสือเล่มนึง ชื่อว่า "The Complete Idiot's Guide to Buddhism"

อยากรู้เหลือเกินว่าฝรั่งเขาเข้าใจพุทธศาสนาอย่างไร เข้าใจอย่างที่เราเข้าใจหรือเปล่า? หลักธรรมต่างๆ เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว จะมีใจความเหมือนกับตำราแบบเรียนพระพุทธศาสนาของเมืองไทยหรือเปล่า?

หลังจากที่ลองเปิดๆ ผ่านๆ ดูไปทั้งเล่ม ก็ต้องบอกว่า เหมือนมากๆ เลยทีเดียวหละ! โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหาสาระและหลักธรรมคำสอน แต่ความเหมือนนี้ ก็เป็นความเหมือนที่แตกต่างซะด้วยนะ!

ที่แตกต่างนั้นไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นความรู้สึกเมื่อได้อ่าน
- ตำราไทยอ่านแล้วรู้สึกขลังกว่า
- ตำราอังกฤษอ่านแล้วรู้สึกเข้าใจง่ายกว่า!

ที่เข้าใจง่ายกว่าก็เพราะว่าเขาตัดความขลังออกไป ที่ว่า "ขลัง" คืออะไรล่ะ? คำตอบก็คือ "ศัพท์เทคนิค" อย่างไรล่ะครับที่ทำให้ขลัง เคยไหม? เวลาใดที่เราอ่านตำราไทยแล้วเห็นศัพท์ภาษาบาลี/สันสกฤต เราจะรู้สึกว่ามันขลังขึ้นมาโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าส่วนไหนของตำราอธิบายด้วยภาษาไทยล้วนๆ มันมักจะไม่ค่อยขลังสักเท่าไหร่

ความขลังนี้มีประโยชน์ ประโยชน์แง่นึงก็คือความขลังเป็นตัวสร้างศรัทธา พอมีศรัทธาก็จะมีกำลังใจอ่านต่อ รู้สึกว่าเรื่องที่อ่านเป็นเรื่องที่สูงส่ง จึงอยากเรียนรู้ อยากจะจำไปสอนคนอื่นได้

แต่ความขลังก็เป็นดาบสองคม เพราะเวลาเรารู้สึกว่าประโยคไหนขลัง เราจะเชื่อตามนั้นเลยโดยอัตโนมัติ (ยิ่งถ้าได้ยินว่านี่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าแล้วละก็ แทบจะเชื่อได้โดยไม่ต้องคิดสงสัยเลย) การเชื่อโดยฉับพลันเช่นนี้ทำให้เราเสียโอกาสที่จะคิดตาม เสียโอกาสที่จะคิดวิเคราะห์แต่ละข้อความตามความหมายของมัน แล้วตัดสินใจเอาด้วยตัวเองว่าจะเห็นพ้องด้วยหรือไม่

ตำราภาษาอังกฤษที่ผมอ่านนั้น ใช้ศัพท์เทคนิคน้อยมาก คำส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษพื้นๆ ที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้อ่านง่าย เหมือนฟังเพื่อนฝูงพูดคุยกัน พอเราฟังแล้วเราก็ได้คิดตาม และก็ได้เห็นตามจริงด้วยตัวเองว่า เอ้อ! มันจริงนะ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง เพราะอย่างนี้นี่เอง และพอเราเข้าใจมันแล้วเราจะรู้สึกประทับใจในความเข้าใจนั้นได้มากกว่า เพราะมันเหมือนกับว่าอยู่ใกล้ตัวกับเรา ไม่ได้ไกลห่างออกไปเสมือนเครื่องรางของขลัง ที่มีไว้บูชามากกว่ามีไว้เพื่อนำมาใช้งานประจำวัน

ธรรมะนั้นควรมีไว้เพื่อใช้งานประจำวัน

วันนี้ขอยกเรื่องที่อ่านมาอธิบายให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านคงรู้จักดีอยู่แล้ว ผมเองก็รู้จักดีมาแต่ไหนแต่ไร แต่ลองมาดูวิธีอธิบายแบบนี้สักหน่อยจะเป็นไร?

[หมายเหตุ: สาเหตุของการยกตัวอย่างนี้ก็เพื่อเป็นการเล่าประสบการณ์จากการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวให้ฟัง ไม่ได้ต้องการจะเปรียบเทียบว่าหนังสือเล่มนั้นเขียนได้ดีกว่าหรือแย่กว่าหนังสือเล่มอื่นที่เป็นภาษาไทยแต่อย่างใด]

อริยสัจ 4

อริยสัจ 4 คืออะไร?

คุณครูที่ขี้เกียจๆ ก็จะตอบสั้นๆ ว่า อ้อ มันคือความจริงสี่ประการ ประกอบด้วย ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ และมรรค

คุณครูที่ขยันขึ้นมาหน่อย ก็จะแปลให้ฟังว่า อริยสัจ 4 คือ
1. ความทุกข์
2. เหตุแห่งทุกข์
3. ความดับทุกข์
4. หนทางแห่งการดับทุกข์

ฟังดูก็ง่ายดีนี่ เข้าใจง่ายดีด้วย ไม่น่ายากที่จะทำความเข้าใจว่าสี่ข้อนี้คืออะไรบ้าง แต่ถามว่า พระพุทธเจ้าสอน "ความจริง" สี่ข้อนี้มาทำไม? สอนแล้วเราได้อะไร? รู้จักสี่ข้อนี้แล้วจะช่วยอะไร?

หนังสือ "คู่มือพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กปัญญาอ่อน" (The Complete Idiot's Guide to Buddhism) อธิบายไว้ว่า...

ในบรรดาหลักธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้นั้น สามารถสรุปลงได้ด้วยหลักความจริงเพียงสี่ข้อ หลักธรรมข้ออื่นๆ ถือได้ว่าเป็นเพียงการอธิบายให้ความกระจ่างเพิ่มเติมต่อหลักความจริงในสี่ข้อต่อไปนี้:

1. ธรรมชาติของชีวิตคนเราจะต้องมีความทุกข์ เพราะว่า...
2. เหตุแห่งทุกข์คือความยึดติดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ กระนั้นก็ตาม...
3. เราสามารถดับทุกข์เหล่านี้ได้ เพราะว่า...
4. หนทางดับทุกข์นั้นมีอยู่จริง และพระพุทธเจ้าก็ได้สอนไว้แล้ว

โอ้โห!!! ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่า... แต่ผมอ่านข้อความในย่อหน้าที่แล้วแล้วผมรู้สึกเหมือนกับว่า นี่ช่างเป็นคำโฆษณาที่น่าเชื่อถือเสียนี่กระไร!! ฟังดูตรงไปตรงมา จริงจัง เรียบง่าย มีน้ำหนัก เป็นเหตุเป็นผล และเมื่อยิ่งคิดตาม ก็ยิ่งพบว่ามันเป็นความจริงเสียยิ่งนัก! นี่เองที่ทำให้ความจริงสี่ประการนี้ถูกเรียกว่า "อริยสัจ"

ความดึงดูดของสคริปต์โฆษณาชิ้นนี้ ถ้าจะไปเทียบกับโฆษณาของพระเจ้าจอร์จแห่งทีวีมีเดียแล้วละก็ ผมขอฟันธงให้พระพุทธเจ้าของเราชนะขาดรอยเลยครับ!

Comments:
"จิตส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ"

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?