Sunday, October 14, 2007
:: Last Lecture ::
ศาสตราจารย์ แรนดี้ เพาช์ (Randy Pausch) กำลังจะตายในอีก 5 เดือนข้างหน้านี้

นี่เป็นเล็กเชอร์สุดท้ายของเขา ก่อนที่จะจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลล่อน (Carnegie Mellon) ไปพักผ่อนที่บ้านหลังใหม่

เขาซื้อบ้านหลังนี้ไว้เมื่อคณะแพทย์ยืนยันว่า เนื้องอกในตับของเขาหมดหนทางรักษาได้ และอีกครึ่งปีต่อจากนี้ไปคือครึ่งปีสุดท้ายของชีวิตเขา

แรนดี้ไม่ได้เริ่มต้นเล็กเชอร์ด้วยน้ำตา

เขาเร่่ิมต้นด้วยการมิดพื้น แล้วเอ่ยว่า "ผมยังแข็งแรงอยู่ ใครอยากจะร้องไห้สงสารผม ก็ขอเชิญลงมามิดพื้นให้ดูเสียก่อน แล้วจะสมเพชผมอย่างไรก็ได้"

หัวข้อเล็กเชอร์นี้คือ "Really Achieving Your Childhood Dreams" (คำแปล: "ทำความฝันยามเด็กให้เป็นจริง จริงๆ")​

ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ต่อมา แรนดี้ได้ให้ข้อคิดและเทคนิคต่างๆ มากมายในการนำพาตัวเองสู่ความฝัน โดยให้ตัวอย่างจากชีวิตของเขาเอง

ความฝันยามเด็กของเขาคือ:
1) อยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก
2) เล่นฟุตบอลใน NFL
3) เขียนบทความในสารานุกรมเวิอร์ลด์บุค (World Book)
4) เป็นกัปตันเคอร์ก ​(Captain Kirk จาก Star Trek)
5) ได้ตุ๊กตาตัวโตๆ จากเกมในสวนสนุก
6) เป็นวิศวกรแห่งจินตนาการ (Imagineer) ที่ Disney

เป็นความฝันที่บ้าบิ่น หลากหลาย และท้าทายต่อความเป็นจริง

แรนดี้ไม่ได้สำเร็จในการทำทุกความฝันให้เป็นจริง

ในบ้างข้อเขาทำได้ บางข้อทำไม่ได้ แต่เขาได้อะไรกลับมาจากการพยายามอย่างไม่หยุดหย่อน มากกว่าจุดประสงค์เริ่มต้นจากความฝันนั้นอีก

คำสอนที่ผมประทับใจมากที่สุดคงเป็น:
"Experience is what you get when you didn't get what you wanted."
แปลได้ว่า "ประสบการณ์คือสิ่งที่คุณจะได้รับ เมื่อคุณไม่ได้รับสิ่งที่คุณต้องการ"

นี่เป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ผมยึดถือมานานตั้งแต่ยังเด็ก ประสบการณ์ที่เราได้พยายามไขว่คว้าอะไรสักอย่างนั้น มันมักจะมีค่ายิ่งกว่าส่ิงที่เราต้องการอยู่ในขณะนั้นเสียอีก

อีกคำสอนที่ประทับใจไม่แพ้กันก็คือ:
"Brick walls are there for a reason: they let us prove how badly we want things."
แปล (แบบถอดความ) ได้ว่า​ "อุปสรรคขวากหนามมีเหตุผลของมัันเอง มันมีไว้เพื่อให้เราพิสูจน์ว่าเราต้องการบางสิ่งมากเพียงไร"​

แรนดี้ยังเสริมด้วยว่า หากเราต้องการสิ่งใดจริงๆ แล้ว อุปสรรคก็ไม่ได้มีไว้เพื่อกีดขวางเรา มันมีไว้เพื่อกีดขวางคนอื่นๆ ต่างหาก

คำสอนเหล่านี้ล้วนมีค่า แต่มันคงเป็นเพียงคำสอนที่น่าเบื่อ หากว่ามันไม่ได้มาจากปากของคนที่สามารถนำชีวิตตนเองมาเป็นตัวอย่างได้ ดังเช่นแรนดี้

ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน

ความปลาบปลื้ม ความปิติ ความฝัน แรงบันดาลใจ ความยินดี ความภูมิใจ ฯลฯ​ ...

...​ คือสิ่งที่แรนดี้ให้กับผู้ฟังในวันนั้น วันที่เขามอบเล็กเชอร์ท้ายสุด เล็กเชอร์ที่ดีที่สุด ให้กับสถาบันที่เขารักมากที่สุด

แรนดี้ไม่ได้จบเล็กเชอร์ด้วยน้ำตา

เขาจบด้วยการนำเค้กก้อนใหญ่มาวางไว้หน้าห้อง แล้วขอให้ผู้ฟังช่วยกันร้องเพลงอวยพรวันเกิด (ย้อนหลัง)​ ให้ภรรยา

คนที่มาฟังในวันนั้น (18 ก.ย. 50) มีทั้งนักเรียน อาจารย์ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าภาควิชา คณะบดี ประธานมหาวิทยาลัย ฯลฯ​ เต็มแน่นห้องประชุมหลัก ที่จุคนได้ 450 ที่นั่ง

แต่คนที่ได้ฟังเล็กเชอร์นี้ไม่ได้มีแค่นั้น

วิดิโอที่โพสต์ไว้ในกูเกิ้ลวิดิโอ (Google Video) ได้รับการชมไปแล้ว 310,734 ครั้ง​ ผมเป็นหนึ่งในนั้น (หมายเหตุ: นี่คือจำนวนครั้งการชม ไม่ใช่จำนวนผู้ชม แต่กระนั้นก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดี)​

ขอเชิญร่วมเป็น "นักเรียน" อีกคนหนึ่ง ได้ที่
http://video.google.com/videoplay?docid=362421849901825950&hl=en

-----
ป.ล.​[1] ในตอนเริ่มต้น แรนดี้ได้กล่าวว่าเขาจะไม่ขอพูดเรื่องศาสนา แต่ขอประกาศว่า บัดนี้เมื่อรู้ว่าตนใกล้ตายเขาได้เปลี่ยนศาสนาแล้ว -- เขาเพิ่งซื้อเครื่องแมคอินทอช (Macintosh)

ป.ล. [2] คุณล่ะ จะเปลี่ยนใจใช้ mac หรือยัง?

Comments:
ขอบคุณมาก ๆ สำหรับข่าวนี้
 
ขอบคุณครับ เป็นเลกเชอร์ที่เยี่ยมมากๆ
ชอบตอนที่แรนดี้เอาเค็กมาให้ภรรยาเป่าสุดๆ
 
สำหรับคนที่ชื่นชอบความคิดดีๆ ของแรนดี เพาช์ แวะมาบอกค่ะว่ามี The Last Lecture ที่แรนดี เพาช์ ไปทอล์คในรายการของ Oprah แบบบรรยายไทย (Thai Subtitle) แล้วนะคะ ที่ http://video.google.com/videoplay?docid=-8703933479957779710
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?