Sunday, October 22, 2006
:: เสถียรภาพของนิพพาน ::
ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่ทุกศาสนาก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ต่างมีอุดมคติที่เหนือขึ้นไป ศาสนาแบบเทวนิยมย่อมมุ่งสู่การเข้าไปอยู่ในที่เดียวกับพระเจ้า (คริสต์, อิสลาม) หรือรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า (ฮินดู) พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นอเทวนิยม มุ่งสู่ภาวะสงบนิ่งซึ่งเรียกว่านิพพาน

น่าสนใจว่าอุดมคติของศาสนาอื่นทั้งหมดนั้นดูจะเข้าถึงได้ไม่ยาก เพียงแค่ทำความดี เชื่อในสิ่งที่ศาสดาสอนให้เชื่อ และปฏิบัติตามพิธีกรรมและระเบียบแบบแผนอันเหมาะสม ก็จะได้เข้าถึงภาวะอุดมคติแล้ว และเป็นที่น่าสนใจว่า มีความเป็นไปได้ที่ทุกๆ คนบนโลกสามารถเข้าถึงอุดมคติดังกล่าว โดยที่โลกยังคงดำเนินไปอย่างปกติสุขได้


แต่สำหรับพระพุทธศาสนาแล้ว นิพพานไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงหรือแม้แต่จะเข้าใจโดยถ่องแท้ว่าคืออะไร การให้นิยามสำหรับนิพพานเองก็เป็นเรื่องยาก จะพบก็แต่คำอธิบายในแง่ต่างๆ ว่านิพพานมีลักษณะอย่างนี้ อย่างนั้น และไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น คำอธิบายหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความยากของนิพพานก็คือ
"เราจะพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงด้วยลำพังเพียงการทำความดีอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งหรือเหนือไปกว่าการกระทำความดีอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งได้แก่การทำจิตให้หลุดพ้นไปจากการเป็นบ่าวทาสของความอยากทุกชนิดนั่นเอง"
พุทธทาสภิกขุ, พ.ค. 2499
ฟังดูแล้วรู้สึกว่า 1) ยากที่จะเข้าถึงนิพพานได้ และ 2) ชักไม่แน่ใจว่าเราต้องการละความอยาก *ทุกชนิด* จริงๆ หรือเปล่า

ถึงแม้จะยาก พระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์หลายพันรูปก็ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ที่น่าคิดก็คือว่าเป็นไปได้ (แม้ในเชิงตรรกะ) หรือไม่ที่สักวันหนึ่งคนทั้งโลกจะบรรลุนิพพาน? ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ก็น่าจะนับเป็นจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว

ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วนั้นเรียกว่าพระอรหันต์ ถ้าจำไม่ผิดพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่าพระอรหันต์จะดำรงชีวิตแบบฆราวาส (บุคคลธรรมดา) ไม่ได้ ทันทีที่บรรลุนิพพานก็จะต้องออกบวชและพระพฤติตนเป็นนักบวช เพราะวิถีชีวิตของฆราวาสนั้นขัดแย้งกับภาวะนิพพาน


แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทั้งโลกบรรลุนิพพาน? คนทั้งโลกก็ต้องออกบวชงั้นหรือ?

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทั้งโลกเป็นนักบวช?


พระอรหันต์เหล่านั้นจะสร้างระบบเศรษฐกิจกันอย่างไร? ใครจะทำหน้าที่ต่างๆ ในสังคม? เมื่อไม่มีฆราวาสคอยให้การสนับสนุน พระอรหันต์เหล่านี้ก็ต้องดำรงชีวิตเฉกเช่นฆราวาสใช่ไหม? แต่นั่นก็ขัดแย้งกับกฎที่พระพุทธเจ้าวางเอาไว้


ดังนั้นพระอรหันต์เหล่านี้ก็คงต้องดำรงชีวิตกันอย่าง "พอเพียง" ฉันแต่พืชเพราะฆ่าสัตว์เองไม่ได้ ยารักษาโรคอาจมีไม่เพียงพอเพราะกระบวนการผลิตยาบางอย่างอาจต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นหรือสิ่งแวดล้อม การวิจัยยาตัวใหม่ไม่อาจกระทำได้เพราะไม่สามารถทดสอบบนสัตว์ได้

และที่สำคัญ การสืบสายพันธุ์มนุษย์ไม่อาจกระทำได้


ดังนั้นข้อสรุปก็คือว่า เมื่อใดที่มนุษย์ทั้งโลกบรรลุนิพพาน เมื่อนั้นมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์!!!


.
.
.

ฟังดูแย่ และน่ากลัว? แต่เมื่อลองคิดอีกทีหนึ่งแล้ว นี่แหละ! สอดคล้องกับหลักการพ้นทุกข์เลยทีเดียว

หากมนุษย์สูญพันธุ์ไป ก็จะไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นอีก เมื่อไม่มีเกิดก็ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตายอีกต่อไป คนทั้งโลกก็จะพ้นทุกข์ (เพราะไม่มีคนเหลือให้เป็นทุกข์อีกต่อไปแล้ว)


หรือนี่คือสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับโลก? -- โลกที่ไม่มีมนุษย์เหลืออยู่อีกต่อไป

Comments:
เคยคิดทำนองนี้เหมือนกัน
บางทีก็สงสัยว่า เออ มันจำเป็นหรือไม่
ไม่ต้องมองไกลขนาดนิพพาน
เศรษฐกิจพอเพียงเนี่ยะ ถ้าพอเพียงกันทุกคนในสังคม ระบบโดยรวมมันจะไปได้หรือเปล่า

จริง ๆ ผมว่านิพพานแล้วก็น่าจะไม่สูญพันธ์หรอก
เพราะว่า คนเราเกิดมาคงไม่นิพพานเลย
ต้องเป็นคนธรรมดาก่อน ตอนนั้นก็ให้สืบพันธ์กันให้หาย "อยาก" แล้วค่อยมาพยายามนิพพานกันต่อ
(ฮ่าฮ่า)
 
โหย คิดได้ไงเนี่ย เจ๋ง ๆ ไอเดียนี้น่าจะทำเป็นพลอตหนัง เมื่อโลกนี้มีแต่พระอรหันต์ ลองจินตนาการ หนุ่มสาวเด็กเฒ่าทุกคนในโลกหัวโล้นนุ่งผ้าเหลืองนั่งกรรมฐานใต้ต้นโพธิ์ดูดิน้อง แถมไม่มีตึกบ้าน อยู่ป่า กินอยู่อย่างง่าย ค้าขายก็ไม่ต้องมี ถ้าจะแปลกพิลึก

แต่ถ้าดำเนินหนังเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ คงจะต้องมีตัวร้ายซักคนที่ตรัสรู้ว่าเราอยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อาหารสามารถปรุงแต่งให้อร่อยได้ สร้างบ้านหลบฝนแล้วนั่งสมาธิ จิตสบายขึ้น ทุกคนที่สุดโต่งเข้าหานิพพานก็จะพบความสุขของความไม่นิพพานเข้าซักวันหนึ่ง ตอนจบของเรื่องเราอาจจะได้ข้อคิดว่า การที่เราบรรลุถึงนิพพานเป็นสิ่งที่เลวร้ายก็ได้

รึเปล่า
 
ถ้าทุกคนนิพพานแล้ว ก็จะไม่คนตัวร้ายหรอก

เพราะว่าันิพพานคือไม่มีความอยากความต้องการทุกชนิดหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีคนมาทำให้อาหารอร่อย เพราะไม่มีความอยากให้มันอร่อย ไม่มีบ้าน เพราะอยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้อยากสบาย ไม่ได้อยากมี"ความสุข" และอื่นๆ

แต่เราก็เชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้ืัที่คนทั้งโลกจะนิพพานพร้อมกัน อิอิ เพราะว่าคนเราคิดต่างกันเป็นร้อยแปด คงเป็นไปไ่ม่ได้ที่ทุกคนจะเห็นตรงกันว่าไม่อยากมีความอยากแล้ว (คือมีจุดหมายคือนิพพานนั่นเอง)

เอ๊ะ งง เข้าใจไหม เหมือนกับคนเราเห็นไม่เหมือนกันในการเลือกของ เลือกแฟน เลือกบ้าน เลือกงานนั่นแหละ

แต่เป็นบทความที่น่าสนใจดี อิอิ คิดได้ไงเนี่ย :P
 
ตอบพี่มะนาว:

ผมเชื่อนะครับว่านิพพาน = พ้นทุกข์ ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็จำเป็นต้องเข้าถึงนิพพาน ... แต่ความพ้นทุกข์นั่นแหละ จำเป็นหรือเปล่าสำหรับมนุษย์ทุกคน?

ส่วนแนวคิดที่ว่า มีลูกมีหลานกันก่อนแล้วค่อยมุ่งสู่นิพพานนี่ก็น่าสนใจครับ ผมไม่ได้คิดมาก่อนเลย จะว่าไปพระพุทธเจ้าเองก็ทรงเดินตาทางสายนั้นเช่นกัน (มีพระราหุลก่อน แล้วจึงออกผนวช)

แต่... เกรงว่าจะเป็นอย่างนี้น่ะสิครับ: พอพ่อออกบวช พ่อเป็นอรหันต์ ลูกมาฟังธรรม เกิดเลื่อมไสศรัทธาออกบวชบ้าง (ก่อนจะมีหลาน) จะทำยังไง? อย่างนี้ก็สูญพันธุ์อยู่ดี


ตอบพี่นัท:

น่าสนใจนะครับ ไว้ว่างๆ ผมจะเอาไอเดียนี้ไปเสนอแถวๆ Hollywood อิๆ แล้วจะแวะกินอาหารไทยที่ไทยทาวน์ (อยู่ใกล้ๆ กัน) เผื่อครับ

อาจจะได้หนังที่น่าสนใจมาเรื่องนึง อาจแต่งเป็นตำนานแบบ Paradise Lost เลยก็ได้

ตอบพี่น้ำตาล:

ผมเชื่อเหมือนกันครับว่าคงไม่มีวันที่คนทั้งโลกจะบรรลุนิพพาน กิเลศคนเรามันหนาเตอะนัก (ดูจากตัวเองก็พอรู้) และสติปัญญาของคนเราก็แตกต่างกันเหลือเกิน

บทความนี้ก็แค่คิดไว้เล่นๆ น่ะครับ

จะว่าไปการคิดเช่นนี้ไม่รู้ว่าจัดเป็น "อจิณไตย" (สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่ามนุษย์ไม่ควรคิด) หรือเปล่า เพราะไม่ได้เป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์แต่อย่างใด


ขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่แวะมาอ่านและคอมเมนต์ครับ :)
[เอ ทำไมมีแต่ "พี่ๆ" หรือว่าเรื่องนี้มีแต่คนสูงอายุ ...Oops.. คนอาวุโสที่สนใจ :P]
 
เห็นด้วยว่าไม่มีทางที่คนทั้งโลกจะบรรลุนิพพาน เพราะพื้นฐาน (เรียกว่ากรรมเก่าก็ได้มั้ง) ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน เปรียบได้กับบัวสี่เหล่า ความคิดเห็นของคนไม่กี่คนยังไม่คล้ายกันเลย การที่จะให้คนทั้งโลกมาคิดเหมือนกันก็เป็นไปไม่ได้

อ้อ เห็นด้วยอีกเรื่องว่าคิดเรื่องนี้ไปก็คงเป็นอจิณไตย เพราะไม่ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ :)
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?